พาราสาวะถี

ยืนหยัดชัดเจนในหลักการสำหรับ ชวน หลีกภัย แม้ฝ่ายรัฐบาลโดย วีระกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จะยกเอาคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญปมถวายสัตย์ปฏิญาณมาเพื่อประสงค์จะเบรกการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติของพรรคฝ่ายค้านตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 และตอกย้ำอีกกระทอกระหว่างการอภิปราย โดย ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.คนใหม่ของพรรคสืบทอดอำนาจ เรื่องความไม่ถูกต้องในการที่จะอภิปรายโดยไม่ยึดโยงกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ


อรชุน

ยืนหยัดชัดเจนในหลักการสำหรับ ชวน หลีกภัย แม้ฝ่ายรัฐบาลโดย วีระกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จะยกเอาคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญปมถวายสัตย์ปฏิญาณมาเพื่อประสงค์จะเบรกการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติของพรรคฝ่ายค้านตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 และตอกย้ำอีกกระทอกระหว่างการอภิปราย โดย ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.คนใหม่ของพรรคสืบทอดอำนาจ เรื่องความไม่ถูกต้องในการที่จะอภิปรายโดยไม่ยึดโยงกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ

ประเด็นดังกล่าวจอมหลักการตอบชัดถ้อยชัดคำ ปรึกษาข้อกฎหมายกับผู้เชี่ยวชาญทุกด้านมีมติเอกฉันท์ต้องเดินหน้าอภิปรายตามญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอ พร้อมแจกแจงชัดสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญมีออกมาเป็นคำสั่งพร้อมคำอธิบายในคำสั่งไม่ใช่คำวินิจฉัยที่ผูกพันทุกองค์กรจะต้องปฏิบัติตาม ไม่เพียงเท่านั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรยังยืนยันด้วยว่า หากต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมายในกรณีดังกล่าว ตนในฐานะประธานต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว

ถือเป็นความถูกต้อง แต่คนที่น่าจะอารมณ์ดีและโชคดีกว่าคงเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะวันเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ จากเหตุดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช.ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า หัวหน้าคสช.ไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ได้มาโดยการยึดอำนาจ และไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ

ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้ ท่านผู้นำหน้าระรื่นเข้าสภาในช่วงบ่ายไปตอบข้อซักถามของฝ่ายค้าน แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ตอบในเรื่องการถวายสัตย์ฯ หากแต่ไปตีสำบัดสำนวนตอบโต้ฝ่ายค้านในเรื่องของการไม่แจงที่มาของงบประมาณในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเพียงประเด็นเดียว ซึ่งเมื่อฟังแล้วก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ แค่โชว์ลีลาเล่นโวหาร เรียกเสียงฮาจากที่ประชุมเท่านั้น ตรงนี้ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะประเด็นสำคัญดังว่า ต้องเป็นหน้าที่ของเนติบริกรประจำรัฐบาลที่จะชี้แจงแทนอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้านนั้นมีคนที่อภิปรายได้เข้าเป้าตรงประเด็นที่สุดคือ ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นคนเปิดประเด็นในเรื่องดังกล่าว คำถามของปิยบุตรคือ พลเอกประยุทธ์มีโอกาสนำถวายสัตย์ปฏิญาณทั้งสิ้น 5 ครั้ง ทุกครั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีอ่านคำถวายสัตย์ปฏิญาณจากบัตรแข็งที่สำนักนายกรัฐมนตรีเตรียมไว้ แล้วทำไมวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา จึงไม่ใช้จนทำให้มีการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน

ประเด็นที่แหลมคมคือ หากไม่มีการแสดงความไม่ผิดชอบทำกรณีนี้ให้ถูกต้อง ต่อไปในอนาคตนายกรัฐมนตรีคนอื่นไม่ต้องกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณให้ครบหรือไม่ แน่นอนว่า สิ่งที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ตีกรรเชียงมาตลอด เป็นสิ่งที่ปิยบุตรมองว่าเป็นส่วนหนึ่งในอาการของ โรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ” และ โรคไม่รับผิดชอบขาดความเป็นผู้นำ” หากมองประสาชาวบ้านทั่วไปอาจเข้าใจได้ว่าท่านผู้นำคิดว่าตัวเองยังเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่สั่งให้เขียนรัฐธรรมนูญ จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญหรือเปล่า

อย่างไรก็ตาม คำชี้แจงของ วิษณุ เครืองาม ที่รับหน้าเสื่อแทนประยุทธ์มีบทสรุปแบบย่นย่อได้ว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นเรื่องรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ก็ระบุไว้อย่างชัดเจนถึงความหมายและวิธีการของการถวายสัตย์ปฏิญาณ ดังนั้น สิ่งที่ฝ่ายค้านเป็นห่วงไม่ต้องกลัวว่ารัฐบาลจะเป็นโมฆะ อย่าฝันร้าย เพราะสิ่งเหล่านั้นจะไม่เกิด โดยยกเอาคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญมาตอกย้ำว่า “ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด”

ไม่ได้เหนือความคาดหมายเพราะทุกฝ่ายต่างคาดการณ์กันว่าจะต้องออกมาแบบนี้ แต่ สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านในฐานะผู้อภิปรายสรุปก็ได้ขมวดปมอย่างน่าคิดไม่น้อย พลเอกประยุทธ์-วิษณุ ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการลบมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญทิ้ง ดึงฟ้าต่ำเพื่อปกป้องตนเอง พร้อมด้วยคำถามที่ตามมาคือ ทั้งสองคนจะทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมโดยสิ้นเชิง มาตรา 161 วรรคสองถือว่าตัดออกไม่มีผลแล้วใช่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ท่วงทำนองของวิษณุเช่นนี้ต้องยอมรับกันว่าไม่ใช่วิษณุคนเดิมที่คนส่วนใหญ่รู้จักอีกต่อไปแล้ว แม้กระทั่งหนังสือที่ตัวเองเขียนก็คงไม่มีความหมาย คงเป็นอย่างที่ปิยบุตรว่าไว้ การปกป้องอำนาจเผด็จการสืบทอดอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู จนละทิ้งความเป็นมือกฎหมายชั้นครูของตัวเองไปหมดสิ้นถือเป็น บิดาแห่งข้อยกเว้น” ดูจากท่วงทำนองที่เปลี่ยนไปคนที่ถูกพาดพิงคงไม่รู้สึกรู้สาอะไรแล้วตอนนี้

เสร็จสิ้นการอภิปรายส่งท้ายสมัยประชุมนี้ไปแล้ว สถานการณ์ทางการเมืองอาจเงียบสงบไปอีก 2 เดือน กลับมาเปิดสมัยประชุมในเดือนพฤศจิกายน มี 2 เรื่องสำคัญที่รัฐบาลยังคงต้องเผชิญคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจกับ 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนว่ามีความตั้งใจที่จะทำให้เกิดการแก้ไขจริงหรือแค่รับลูกเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น ส่วนอีกเรื่องสำคัญที่สุดคือการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563

อันจะถือเป็นเวทีดวลฝีปากอย่างดุเด็ดเผ็ดมันอีกครั้งของฝ่ายค้านกับรัฐบาล และจะเป็นบทพิสูจน์ว่าเสียงปริ่มน้ำที่เป็นปัญหาอยู่นั้น ยังคงมีปัญหาอยู่หรือไม่ รวมทั้งจะเป็นบทพิสูจน์คำพูดเรื่องงูเห่าชั่วคราวด้วยว่ามีอยู่จริงหรือไม่ สภาที่เปิดหน้าสู้กันอย่างชัดเจนเช่นนี้ การขยับตัวของสมาชิกผู้ทรงเกียรติไม่มีอะไรให้ปิดบังซ่อนเร้นได้ เหมือนอย่างการลงมติเรื่องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบเรื่องอีอีซีที่ผ่านมา ที่พบว่า 16 ส.ส.พรรคเพื่อไทยสวนมติพรรคนั่นปะไร น่าจะเป็นสัญญาณเรื่องปึกแผ่นของฝ่ายค้านได้เป็นอย่างดี

ยังไม่เลิกดราม่ากับปมความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนชาวอุบลราชธานีที่ประสบภัยน้ำท่วมหนักสุดในรอบ 17 ปี ถึงความล่าช้าของรัฐบาล ไม่ได้พูดถึงขั้นตอนทางราชการหรือแนวทางต่าง ๆ ที่ต้องเดินตามกรอบ หากแต่หมายถึงการลงไปลุยให้กำลังใจผู้ประสบภัยของผู้นำ วันนี้บิ๊กตู่ตัดสินใจลงไปในพื้นที่อีกครั้ง หลังจากที่ บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ ดาราดังสร้างปรากฏการณ์ช่วยเหลือแบบถึงลูกถึงคนโชว์ให้ท่านผู้นำได้เห็นเป็นตัวอย่างไปแล้ว

Back to top button