HANA บวก 5% นิวไฮรอบเกือบ 7 เดือน โบรกฯเชียร์ “ซื้อ” เคาะเป้า 34 บ. คาดกำไรปี 63 ฟื้นตัว

HANA บวก 5% นิวไฮรอบเกือบ 7 เดือน โบรกฯเชียร์ "ซื้อ" เคาะเป้า 34 บ. คาดกำไรปี 63 ฟื้นตัว โดย ณ เวลา 15.32 น. ราคาอยู่ที่ระดับ 32.75 บาท บวก 1.50 บาท หรือ 4.80% สูงสุดที่ 33 บาท ต่ำสุดที่ 31.75 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 135.87 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ล่าสุด ณ เวลา 15.32 น. อยู่ที่ระดับ 32.75 บาท บวก 1.50 บาท หรือ 4.80% สูงสุดที่ 33 บาท ต่ำสุดที่ 31.75 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 135.87 ล้านบาท

โดยราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบเกือบ 7 เดือน นับตั้งแต่ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 33 บาท เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2562

ด้าน บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ (25 พ.ย.2562) แนะนำ “ซื้อ” HANA ราคาเป้าหมาย 34 บาท/หุ้น โดยจากประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผู้บริหารยังกังวลต่อผลกระทบจาก Trade War และค่าเงินบาทแข็งค่า แต่สิ่งที่ดีคือ ยอดขาย PC และ Smartphone ทั่วโลกกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง จากทั้งระดับ Stock ที่ต่ำมาก และมีการอัพเกรด Software ของกลุ่มลูกค้าองค์กร ในขณะที่บริษัทได้รับคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ เข้ามาช่วยเติมอัตราการใช้กำลังการผลิตให้อยู่ในระดับที่ดีได้ต่อเนื่อง

ส่วนสิ่งที่ยังเป็นลบคือ กลุ่มสินค้า Automotive ยังไม่ฟื้นตัว, ลูกค้ายังต้องการย้ายฐานการผลิตจากโรงงานจีนมายังไทย เพราะปัญหา Trade War ยังไม่จบและไม่แน่นอน อีกทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังกดดันทั้งรายได้และอัตรากำไร แม้เราจะเริ่มมองบวกต่อแนวโน้มคำสั่งซื้อในปีหน้า แต่ยังคงมีหลายปัจจัยที่เป็น Downside Risk ต่อประมาณการของบล.ฟินันเซีย ไซรัส

ทั้งนี้คาดกำไรปกติปี 2562 จะลดลง 40% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน และคาดกลับมาฟื้นตัวในปี 2563 ราว 35% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน (โดยใช้ค่าเงินบาทที่ 31 บาท/USD) แต่ยังเป็นระดับกำไรที่ต่ำกว่าช่วงก่อนมี Trade War เราปรับใช้ราคาเป้าหมายปี 2563 เท่ากับ 34 บาท (อิง PE เดิม 14 เท่า) ปรับคำแนะนำเป็น เก็งกำไร จากเดิม ขาย

อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิไตรมาส 3/62 เท่ากับ 407 ล้านบาท (ลดลง 24% จากไตรมาสก่อน, ลดลง 55% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน) หากไม่รวมกำไรอัตราแลกเปลี่ยน 17 ล้านบาท จะมีกำไรปกติเท่ากับ 391 ล้านบาท (ลดลง 15.7% จากไตรมาสก่อน, ลดลง 53% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน) ต่ำกว่าคาดมาก (คาดไว้ 500 ล้านบาท) แม้ปกติเป็น High Season ของธุรกิจ และมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากการ Restocking ของลูกค้า ทำให้รายได้สกุล USD ปรับขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน แต่ยังลดลง 8% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน

อย่างไรก็ดี ได้รับผลกระทบจากบาทแข็งค่า ทำให้รายได้สกุลบาทเพิ่มขึ้น 0.2% จากไตรมาสก่อน และลดลง 14% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นแย่ลงเหลือ 12% จาก 13% ในไตรมาส 2/62 และ 18% ในไตรมาส 3/61 จากอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ทำให้ประโยชน์จาก Economies of Scale ลดลง รวมงวด 9 เดือนแรกปี 2562 มีกำไรปกติที่ 1,046 ล้านบาท (ลดลง 39% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน) แนวโน้มกำไรไตรมาส 4/62 จะแผ่วลงตามฤดูกาล เบื้องต้นคาดไว้ 369 ล้านบาท ทำให้เราต้องปรับลดกำไรปกติปี 2562 ลง 5% เป็น 1,415 ล้านบาท (ลดลง 40% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน)

ทั้งนี้ จากประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผู้บริหารยังให้ภาพสะท้อนถึงความกังวลต่อ Trade War ทั้งฝั่งของบริษัทและลูกค้า ทำให้ยังคงใช้กลยุทธ์แบบระมัดระวัง สิ่งที่ดีขึ้นคือ 1) ลูกค้าหลายรายมีระดับ Stock ค่อนข้างต่ำมาเป็นเวลานาน ทำให้เริ่มมีคำสั่งซื้อมากขึ้นและต่อเนื่อง 2) ยอดขาย PC ทั่วโลกกลับมาโตมากสุดในรอบ 7 ปี ส่วนหนึ่งมาจากการอัพเกรดสู่ Windows 10 ของลูกค้าระดับองค์กร 3) ยอดขาย Smartphone ทั่วโลกกลับมาโต 1% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี

โดยผู้ผลิตมือถือสัญชาติเกาหลีใต้และจีน ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ยกเว้น Apple ที่ยังมียอดขายลดลง และล่าสุดบริษัทได้รับคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ Mobile Sensor for 3D Facial Recognition ซึ่งจะเริ่มรับรู้รายได้ช่วงปลายไตรมาส 4/62 หรือไตรมาส 1/63 เป็นต้นไป  และสำหรับเทคโนโลยีใหม่ 5G คาดใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งกว่าที่บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ โดยมองเป็นบวกในระยะถัดไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังเป็นลบคือ 1) แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกยังไม่สดใส คาดยังคงลดลงต่อเนื่องในปี 2563 2) ลูกค้าหลายรายยังได้รับผลกระทบจาก Trade War และด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์ รวมถึงอาจยืดเยื้อต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง ทำให้บริษัทได้รับสัญญาณจากลูกค้าที่ต้องการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังลำพูน และ 3) ค่าเงินบาทแข็งค่า ซึ่งกระทบต่อรายได้และอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทค่อนข้างมาก ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่คำสั่งซื้อไม่สดใสนัก

อนึ่ง จากปัญหา Trade War ที่ยืดเยื้อ ทำให้มีลูกค้าต้องการย้ายฐานการผลิตจากโรงงานในจีนมายังโรงงานลำพูนเพิ่มเติม คาดจะเริ่มมีการโยกย้ายในช่วงปลายปี 2562 และอาจมีรายอื่นเพิ่มเติมในช่วงปี 2563 ต่อเนื่อง ทำให้บริษัทต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายจากการลดขนาดกำลังการผลิต ย้ายเครื่องจักร เพิ่มสายการผลิตโรงงานในไทยอีก อย่างไรก็ตาม ล่าสุดบริษัทเพิ่งได้รับคำสั่งซื้อสินค้ากลุ่ม Power Module สำหรับ EV Car จากลูกค้าเกาหลีใต้ 2 ราย โดยผลิตจากโรงงานในจีนของบริษัท จึงคาดว่าทั้งการลดกำลังการผลิตโรงงานจีน และหันมาเน้นลูกค้าในประเทศจีนมากขึ้น รวมถึงการได้ลูกค้าใหม่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจาก Trade War น่าจะยังช่วยให้โรงงานในจีนมีผลกำไรได้ต่อเนื่อง

นอกจากนี้สำหรับโรงงานในกัมพูชา ปัจจุบันผลิตสินค้ารีโมทคอนโทรล และอยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม จากความต้องการของลูกค้าที่สูงขึ้น แม้อัตรากำไรของสินค้าที่ผลิตในกัมพูชาจะไม่สูงนัก แต่ด้วยอัตราการใช้กำลังการผลิตที่มากขึ้น รวมถึงไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินแข็งค่า จึงคาดผลขาดทุนจะทยอยลดลง และอาจถึงจุดคุ้มทุนได้อย่างเร็วคือกลางปี 2563 เป็นต้นไป

โดยมีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อแนวโน้มคำสั่งซื้อของบริษัทในปีหน้า ด้วยการกระจายตัวของกลุ่มสินค้าที่หลากหลาย และมีฐานการผลิตตั้งอยู่หลายประเทศ และหลายแห่ง ทำให้บริษัทสามารถปรับตัวได้เร็ว และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของลูกค้าที่ต้องรับมือกับความไม่แน่นอนของ Trade War ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานยังอยู่ระดับสูงราว 80% จากคาดการณ์รายได้สกุล USD ในปี 2562 จะอยู่ที่ราว US$653 ล้าน (ลดลง 5% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน) และคาดจะกลับเติบโตได้ราว 5% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ในปี 2563 แต่ปรับลดสมมติฐานค่าเงินบาทเป็น 31 บาทต่อ USD จากเดิม 32.5 บาทต่อ USD จึงคาดรายได้สกุลบาทในปี 2563 จะเติบโตเพียง 3.7% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน

อีกทั้ง คาดอัตรากำไรขั้นต้นจะกลับมาฟื้นตัวอยู่ที่ 13% ในปี 2563 จากคาดทำได้เพียง 11.2% ในปี 2562 ต่ำสุดในรอบ 7 ปี แต่ที่ระดับ 13% ยังคงต่ำกว่าในช่วงปี 2558 – 2561 อยู่ที่ 14% – 15% ในขณะที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายพนักงาน จะลดจำนวนพนักงาน โดยการไม่รับเพิ่ม และเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงานที่มีอยู่ เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้

ทั้งนี้คาดกำไรปกติปี 2562 จะกลับมาเติบโตจากฐานที่ต่ำราว 35% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน เป็น 1,907 ล้านบาท แต่ยังคงต่ำกว่ากำไรในช่วงก่อน Trade War และคาดจ่ายปันผลงวดครึ่งปีหลัง 2562 หุ้นละ 0.65 บาท (เท่ากับที่จ่ายในครึ่งปีแรก 2562) คิดเป็น Yield ครึ่งปีที่ 2.1% เราปรับใช้ราคาเป้าหมายปี 2563 เท่ากับ 34 บาท (อิง PE เดิม 34 เท่า)

Back to top button