ไม่เอา‘สุขภาพ’เป็นที่ตั้ง

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่แบน 3 สารเคมีเกษตร กลับลำจากมติก่อนหน้านี้ ที่ให้แบนทั้งสามสารตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562  คณะกรรมการซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน  ลงมติให้ยืดอายุการใช้งานสารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส  ไปจนถึงเดือนมิถุนายนปีหน้า ส่วนไกลโฟเซต ให้ใช้อย่างจำกัด   ในฐานะประชาชนทั่วไปได้ฟังเรื่องนี้แล้วรู้สึกผิดหวังและสิ้นหวังมาก เพราะนั่นมันแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้เอา “สุขภาพของประชาชน” เป็นที่ตั้ง


พลวัตปี 2019 : ฐปนี แก้วแดง (แทน)

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่แบน 3 สารเคมีเกษตร กลับลำจากมติก่อนหน้านี้ ที่ให้แบนทั้งสามสารตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562  คณะกรรมการซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน  ลงมติให้ยืดอายุการใช้งานสารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส  ไปจนถึงเดือนมิถุนายนปีหน้า ส่วนไกลโฟเซต ให้ใช้อย่างจำกัด   ในฐานะประชาชนทั่วไปได้ฟังเรื่องนี้แล้วรู้สึกผิดหวังและสิ้นหวังมาก เพราะนั่นมันแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้เอา “สุขภาพของประชาชน” เป็นที่ตั้ง

แม้กระทรวงสาธารณสุขได้เพียรพยายามบอกว่า สารสามตัวนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพยังไง แต่นายสุริยะ ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้เหตุผลในการตัดสินใจไม่แบนสารเคมีทั้งสามสารว่า จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มพืชอาหาร ที่ยังคงมีการนำเข้าอยู่

นอกจากนี้ยังให้เหตุผลที่มีมติให้จำกัดการใช้สารไกลโฟเซตแทนที่จะแบนไปเลยว่า เนื่องจากพบว่า ยังมีการใช้ใน 160 ประเทศ ดังนั้นจึงยังอนุญาตให้ใช้ได้ พร้อมทั้งยอมรับว่า มติคราวก่อน ไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบของอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอาหารสัตว์ ซึ่งได้รับผลกระทบหลายแสนล้านบาท ดังนั้น หากประกาศห้ามใช้สารดังกล่าว จะทำให้ไม่สามารถนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีจากสหรัฐฯ ได้

ได้ฟังแค่นี้ก็พอสรุปได้ว่า เหตุผลทาง “เศรษฐกิจ” สำคัญมากกว่า เหตุผลเรื่อง “สุขภาพ”  ทั้งที่รู้ ๆ กันอยู่ว่า สารเหล่านี้มีอันตรายต่อชีวิตของประชาชนแค่ไหน

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มีข้อมูลที่ชี้ว่าผู้ป่วยได้รับอันตรายจากสารเคมีสามตัวนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน  เช่นที่ รพ.น่าน  เมื่อก่อนพบผู้ป่วยปีละ 45 คน แต่ปัจจุบันพบถึงเดือนละ 25 คน ซึ่งเท่ากับว่าปีหนึ่งมีผู้ป่วยถึง 300 คน   เพิ่มขึ้นประมาณ 6 เท่า

สารพาราควอตหากมีการสัมผัส จะเกิดพิษเฉียบพลันถึงกับเสียชีวิตได้ ก่อให้เกิดโรคเนื้อเน่า ในระยะยาวตกค้างจากแม่ถึงทารกในครรภ์ มีผลต่อสมองของทารก  ส่วนคลอร์ไพรีฟอส ก่อเซลล์มะเร็ง รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ ขณะที่ไกลโฟเซต ก่อมะเร็ง รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ กระตุ้นการเกิดมะเร็งเต้านม ตกค้างในมารดาสู่ทารก

แพทย์ที่เคยรักษาผู้ป่วยเพราะสารเหล่านี้ระบุว่า สารเหล่านี้ไม่ให้โอกาสที่สองกับผู้ป่วย และส่งผลกระทบต่อสุขภาพมาก  เมื่อสัมผัสจะไตวายใน 3 วัน และตับวายในหนึ่งสัปดาห์  หากยังมีการใช้ต่อไป จะทำให้ประชาชนมีปัญหาสุขภาพมากขึ้น

เมื่อปี 2009 องค์การอนามัยโลก จัดให้พาราควอต เป็นสารเคมีอันตรายปานกลาง แต่มีข้อสังเกตในรายงานว่า มีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวหากถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกาย และเป็นอันตรายแก่ชีวิตหากรับประทาน หรือสัมผัสกับผิวหนังในบริเวณกว้าง

ศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ก็มีรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษพาราควอต ช่วงปี 2553-2559 ว่า มีจำนวน 4,223 ราย มีผู้เสียชีวิตคิดเป็น 46.18% สาเหตุหลักเกิดจากการนำไปใช้ฆ่าตัวตาย 56.60% และมีสถิติที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ มีผู้เสียชีวิตด้วยพาราควอตจากการประกอบอาชีพ 8.19% คิดเป็นจำนวน 171 ราย

ปัจจุบันมีอย่างน้อย 51 ประเทศทั่วโลกที่ ยกเลิกการใช้พาราควอต ซึ่งรวมถึงประเทศในสหภาพยุโรป ที่ยกเลิกเมื่อปี 2007 ส่วนในเอเชีย ห้ามใช้พาราควอตแล้วใน 9 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน คูเวต ลาว เกาหลีใต้ ศรีลังกา ซีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม ส่วนประเทศที่จำกัดการใช้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์

ศาลสหรัฐฯ ก็เคยตัดสินให้ บริษัท “มอนซานโต้” ผู้ผลิตคลอร์ไพริฟอส แพ้คดี และต้องจ่ายเงินเยียวยากว่าหมื่นล้านให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสาร “คลอร์ไพริฟอส”

แม้แต่จีนที่ขึ้นชื่อว่า “หัวเซ็งลี้”  ที่ให้ความสำคัญกับการ “ทำกำไร”  ยังได้ทยอยยกเลิกการใช้พาราควอตตั้งแต่ปี 2012 ด้วยเหตุผลเพื่อการปกป้องสุขภาพของประชาชน

แล้วประเทศไทย ที่นักการเมืองพร่ำพูดว่าจะทำทุกอย่างเพื่อประชาชน  ทำไมจึงยัง “หักดิบ” กับการใช้สามสารอันตรายนี้ไม่ได้ หรือว่า มันมีอะไร “ในกอไผ่” ตามที่กล่าวหากัน เรื่องนี้ถ้ารัฐบาลปักธงว่าเรื่อง “สุขภาพ” ของประชาชนต้องมาก่อน คงไม่ต้องมาถกเถียงกันให้มากความอย่างเช่นทุกวันนี้

Back to top button