“คลัง” เร่งหารือแนวทางเก็บ “ภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง” ก่อนดีเดย์ 1 ม.ค.63

“กระทรวงคลัง” เร่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือแนวทางเก็บ “ภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง” ก่อนดีเดย์ 1 ม.ค.63


นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 ธ.ค.62 กระทรวงการคลัง จะหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ เพื่อซักซ้อมความรู้ความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กำหนดเริ่มจัดเก็บตั้งแต่ 1 ม.ค.63 เป็นต้นไป แทนการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ถูกยกเลิก ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมกับเร่งประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสร้างความเข้าใจโดยทั่วกันโดยเร็ว

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลภาษีที่ดินฯ ได้ประกาศขยายเวลาในการดำเนินการชำระภาษี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ อปท.ที่ต้องปฏิบัติงานตามขั้นตอนเพื่อจัดเก็บภาษีมีเวลาทำงานมากขึ้นสำหรับปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกของการจดเก็บภาษีที่ดินฯ เช่น เลื่อนการแจ้งประเมินภาษี จากเดือน ก.พ.63 เป็นภายในเดือน มิ.ย.63 และเลื่อนกำหนดเวลาการชำระภาษีจากเดือน เม.ย.63 เป็นเดือน ส.ค.63 เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เสียภาษี คือ ผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างด้วย

โดยสาระสำคัญของการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ จะเก็บจากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถือครอง โดยอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจะดูจากการใช้ประโยชน์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ประกอบด้วยอัตราภาษี 4 ประเภท ได้แก่ 1.เกษตรกรรม 2.อยู่อาศัย 3.อื่นๆที่ไม่ใช่เกษตรกรรมและอยู่อาศัย และ 4.รกร้างว่างเปล่า ซึ่งผู้เสียภาษีจะต้องเสียภาษีทุกปี และต้องชำระภายในเดือน เม.ย.ของปีนั้นๆ ยกเว้นปี 2563 ที่สามารถชำระภาษีได้ถึงเดือน ส.ค.63

ส่วนการหามูลค่าของ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมทั้งห้องชุด ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า ให้นำราคาประเมินทุนทรัพย์ (ราคาประเมินฯ) ของกรมธนารักษ์มาใช้คำนวณ แต่สำหรับปี 2563 ให้นำบัญชีราคาประเมินฯปี 2559-2562 มาใช้ก่อน ขณะที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่ใช้ทำประโยชน์เกษตรกรรม จะได้รับการยกเว้นภาษีในปี 2563-2565 และตั้งแต่ปี 2566 จะได้รับการยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในแต่ละ อปท. รวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท จากนั้นที่มูลค่า 51 ล้านบาทขึ้นไปถึง 75 ล้านบาท เสียอัตรา 0.01% , มูลค่า 75-100 ล้านบาท อัตรา 0.03% ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่า มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียอัตรา 0.3% และเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปีแต่อัตราภาษีรวมไม่เกิน 30%

สำหรับที่อยู่อาศัย กรณีเป็นบ้านหลังหลัก ซึ่งบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่อเป็นเจ้าของทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือห้องชุด จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับมูลค่าที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนบ้านหลังอื่นๆ หากมีชื่อเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างอย่างเดียว หรือปลูกสร้างบนที่ดินบุคคลอื่น จะได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับสิ่งปลูกสร้างที่มูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนรวมถึงบ้านหลังที่สองด้วย  ส่วนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีชื่อเป็นเจ้าของ แต่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและไม่ได้นำไปให้เช่า จะถือเป็นบ้านหลังอื่นๆ ซึ่งต้องเสียภาษีอัตรา 0.3% ต่อปี

ในส่วนของผู้ที่เคยเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือภาษีบำรุงท้องที่ และต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมเนื่องจากกฎหมายนี้ จะได้บรรเทาภาระภาษีของส่วนต่าง เมื่อเทียบกับภาษีที่เคยเสียในปี 2562 ดังนี้ ปีที่ 1 ภาษีเดิมปี 2562 + 25% ของส่วนต่าง , ปีที่ 2 ภาษีเดิมปี 2562 + 50% ของส่วนต่าง  และปีที่ 3 ภาษีเดิมปี 2562 + 75% ของส่วนต่าง

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนที่ผู้เสียภาษีควรให้สำคัญเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มี 3 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ตรวจสอบบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า มีการระบุประเภท ขนาด และลักษณะการใช้ประโยชน์ว่าถูกต้องหรือไม่ หากผู้เสียภาษีพบว่า บัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของตนเองไม่ถูกต้อง สามารถยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อขอแก้ไขให้ถูกต้องได้
  2. ตรวจสอบแบบประเมินภาษีที่ อปท. แจ้งประเมินภาษีแก่ผู้เสียภาษี โดยผู้เสียภาษีจะต้องตรวจสอบการประเมินภาษีดังกล่าวว่า ใช้ราคาประเมิน ทุนทรัพย์และอัตราภาษีตรงตามมูลค่าและการใช้ประโยชน์หรือไม่ รวมถึงการคำนวณภาษีว่าถูกต้องหรือไม่ หากผู้เสียภาษีพบว่า การประเมินภาษีไม่ถูกต้อง สามารถยื่นเรื่องคัดค้าน และอุทธรณ์ภายใน 30 วัน
  3. ชำระภาษีภายในเวลาที่กำหนด โดยกระทรวงมหาดไทยประกาศขยายเวลาในการชำระภาษี ให้สามารถชำระได้ภายในเดือน ส.ค. 2563 เพื่อจะไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม รวมไปถึง อาจถูกระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ยังคงมีภาระภาษีค้างชำระอยู่

Back to top button