พาราสาวะถี

ขยับกันไปอีกขั้นสำหรับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีมติตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมา 2 ชุด ชุดหนึ่งดูเรื่องวิเคราะห์ศึกษาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น มี ไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน อีกชุดดูงานประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มี วัฒนา เมืองสุข เป็นประธาน


อรชุน

ขยับกันไปอีกขั้นสำหรับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีมติตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมา 2 ชุด ชุดหนึ่งดูเรื่องวิเคราะห์ศึกษาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น มี ไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน อีกชุดดูงานประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มี วัฒนา เมืองสุข เป็นประธาน

โดยอนุกรรมาธิการชุดของไพบูลย์นัดประชุมนัดแรก 21 มกราคม ขณะที่ชุดของวัฒนานัดประชุมครั้งแรก 23 มกราคม สิ่งที่น่าสนใจคือการที่มีคนซึ่งไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มานั่งเป็นประธานวิเคราะห์ศึกษาบทบัญญัติของกฎหมายสูงสุด กฎหมายลูกและกฎหมายอื่น ๆ นั้น จะมองเห็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่มองหรือไม่ ถ้ามองเห็นตรงกันแล้วจะถึงขั้นที่นำไปสู่ข้อเสนอให้แก้ไขหรือไม่ตรงนี้ต้องติดตาม

ส่วนอนุกรรมาธิการที่จะไปรับฟังความเห็นของประชาชนนั้น เมื่อเป็นวัฒนานำทีมย่อมมีข้อกังวลจากฝ่ายที่ไม่อยากให้แก้ว่าจะนำพาไปสู่ประเด็นชี้นำ สร้างความขัดแย้งหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าว พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานกรรมาธิการ ถึงกับย้ำว่า การรับฟังความเห็นจะต้องระมัดระวัง ไม่ให้เป็นชนวนสร้างความขัดแย้งเสียเอง ต้องเป็นกลางเสมอ และห้ามชี้นำ ควรนำเสนอมุมมองที่เกี่ยวข้องกับประชาชน นอกเหนือจากมุมมองทางการเมือง

เหมือนเป็นการดักคอกันไว้แต่เนิ่น ๆ อย่างไรก็ตาม พีระพันธุ์ก็อธิบายต่อว่า หน้าที่ของอนุกรรมาธิการคือการสร้างการรับรู้ของประชาชนต่อกระบวนการการมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญ ด้วยการรับรู้ถึงหลักประกันสิทธิเสรีภาพ อันจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามีความน่าสนใจ และตัวเองเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่า เมื่อมีการตั้งคณะกรรมาธิการมาเช่นนี้ สิ่งที่คนทั่วไปอยากเห็นก็คือ หาบทสรุปที่ชัดเจนให้ได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาอย่างไร และต้องร่วมกันแก้ไขในรูปแบบใด

อย่างไรก็ตาม ในภาคของประชาชนนั้นคงไม่น่าห่วงเท่าไหร่ หากไม่มีใครไปปลุกระดม โดยปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ เปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่มุบมิบทำแอบไปรับฟังเหมือนอย่างที่คนร่างรัฐธรรมนูญปฏิบัติกันก่อนหน้านี้ แล้วมาอ้างว่าได้ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนมาแล้ว โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้ รับทราบแม้แต่น้อยว่าไปรับฟังกันตอนไหน เข้าข่ายทึกทักเอาเอง

ความน่าเป็นห่วงน่าจะเป็นในส่วนของคณะกรรมาธิการมากกว่าว่าจะแสดงความเห็น แลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่กระบวนการเสนอแก้ไขได้หรือไม่ เพราะ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้พูดไว้ในที่ประชุมกรรมาธิการว่า ต้องการให้กรรมาธิการมองความคิดเห็นที่แตกต่างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องปกติ เพราะหากกังวลและตั้งประเด็นว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้ง การทำงานก็จะเดินไม่ได้ และการไม่พูดเรื่องนี้เท่ากับเป็นการเอาปัญหาไปซุกไว้ใต้พรม สุดท้ายมันก็ระเบิดอยู่ดี

เป็นอันว่าตอนนี้ได้เห็นจุดเริ่มต้นแล้ว แต่จะเดินไปสู่เป้าหมายตามที่แต่ละฝ่ายได้ตั้งไว้หรือไม่ต้องลุ้นกัน เนื่องจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ค้านว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญก็เหมือนการซื้อเวลา เปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ เมื่อฝ่ายกุมอำนาจไม่ได้มีความต้องการที่จะแก้ไขแม้แต่น้อย สุดท้ายจึงเชื่อมั่นว่าปลายทางของคณะกรรมาธิการก็จะเจอทางตัน ซึ่งคนอีกจำนวนไม่น้อยก็มองอีกมุมว่า บางทีการได้ตั้งโต๊ะถกกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวอาจจะทำให้เห็นปัญหาและหาทางออกร่วมกันได้

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมบริวารใกล้ชิดอีก 4 หน่อตั้งแต่คราวรัฐบาลเผด็จการคสช. ฝ่ายค้านจะประชุมและเคาะยื่นญัตติกันภายในสัปดาห์นี้ ที่บอกว่าอาจมีรัฐบาลด้านเศรษฐกิจพ่วงมาอีก 2 รายก็คงหนีไม่พ้นคนในพรรคแกนนำรัฐบาลเอง ชื่อหนึ่งที่ลอยเด่นมาแต่ไกลหนีไม่พ้น สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและแกนนำกลุ่มสามมิตร

ด้วยเหตุผลที่ว่ามีความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเรื่องยืดเวลาแบน 2 สารพิษออกไปและให้จำกัดการใช้อีก 1 สารพิษ แต่นั่นก็เป็นแค่ตัวจุดชนวน สิ่งสำคัญอยู่ที่เนื้อหาสาระและหลักฐานที่ฝ่ายค้านจะนำมาซักฟอก เพราะจุดอ่อนของสุริยะตั้งแต่คราวนั่งเป็นรัฐมนตรีคมนาคมยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร คือความอ่อนด้อยในการอภิปรายในสภา ต้องมีทีมงานเตรียมสคริปต์ให้ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง ซึ่งเจ้าตัวเคยปล่อยไก่ให้คนขำทั้งประเทศมาแล้ว

เมื่อเห็นจุดอ่อน ประกอบกับมีฝ่ายที่ต้องการจะสั่งสอนด้วยเหตุผลของความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล จึงไม่อาจกาชื่อนี้ทิ้งไปจากผู้ที่อยู่ในข่ายจะโดนหางเลขไปได้ ส่วนรายของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แม้จะมีบางคนของบางพรรคประกาศจองกฐิน แต่สิ่งที่ เฉลิม อยู่บำรุง ประกาศกร้าวออกมานั้นมันก็ชัดเจนเหมือนกัน คือไม่มีหลักฐานเอาผิด ปิดเกมไม่ลง ใช้อารมณ์มากกว่าข้อเท็จจริง โอกาสที่จะถูกเล่นงานกลับก็มีไม่น้อย ดังนั้น ปล่อยผ่านรอหลักฐานแน่น ๆ ค่อยจัดการทีเดียวน่าจะเห็นหนทางที่ดีที่สุด

ลำพังแค่เจ้าเอาพี่น้อง 2 ป. คือประยุทธ์กับป.ป๊อก พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา มาขึงพืด ถ้าตีเข้าเป้า อภิปรายโดยยึดหลักเนื้อหาแน่น แม่นข้อมูลและหลักฐานพร้อม เท่านี้ก็น่าจะสร้างความสั่นสะเทือนต่อเสถียรภาพรัฐบาลไม่น้อยแล้ว ส่วนรายอื่นที่พอจะมองเห็นว่ามืออภิปรายของฝ่ายค้านสามารถจะยั่วยุให้โมโหได้คงเป็นอดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลเผด็จการอย่าง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เห็นสุขุมนุ่มลึกอย่างนี้ เวลาเบรกแตกขึ้นมาก็เอาไม่อยู่เหมือนกัน อยู่ที่ว่าอีกฝ่ายจะสามารถกระตุกจุดเดือดได้หรือไม่เท่านั้น

เป็นอันว่าอย่างไรเสียศึกซักฟอกเกิดขึ้นแน่ รอดูแค่ว่าจะมีชื่อรัฐมนตรีรายอื่นนอกเหนือจาก 5 รายก่อนหน้าโผล่มาหรือไม่ ส่วนคนอภิปรายคงต้องคัดกันประเภทปล่อยหมัดเข้าเป้า ประชาชนที่เฝ้าดูแล้วไม่เบื่อหน่าย เพื่อไทยมีตัวเลือกเยอะอยู่ แต่พรรคฝ่ายค้านอื่นอนาคตใหม่ตัวดี ๆ มีไม่น้อย ส่วนประชาชาติ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็ถือว่าโชว์ลีลา แสดงความเก๋าได้ดีทีเดียว การฟาดฟันกันหนนี้ถือว่าน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง ถ้าไม่เป็นมวยล้มต้มคนดู พวกฮาร์ดคอร์ก็จะได้ชมมวยออกอาวุธแลกกันดุเดือดแน่นอน

Back to top button