งบแบงก์ปี 62 เหมือนดี…แต่ไม่เด่น!?

กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 10 แห่ง ประกาศผลการดำเนินงานปี 2562 (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562) ครบถ้วนเป็นที่เรียบร้อย


เส้นทางนักลงทุน

กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 10 แห่ง ประกาศผลการดำเนินงานปี 2562 (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562) ครบถ้วนเป็นที่เรียบร้อย !!! พบว่า  ผลการดำเนินงานโดยรวมมีกำไรสุทธิ 202,209.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.73% จากงวดปี 2561 มีกำไรสุทธิ 194,934.58 ล้านบาท

ภาพรวมผลกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปี 2562 สะท้อนให้เห็นว่าเหมือนจะดี แต่กลับซ่อนความเจ็บช้ำในส่วนของผลประกอบการแบงก์แต่ละแห่ง !!!

เนื่องจากผลการดำเนินงานรายตัวของธนาคารพาณิชย์ในส่วนของกำไรสุทธิปี 2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าผลการดำเนินงาน “ทรงตัว” ขณะเดียวกันก็มีบางตัวกำไรสุทธิปรับลดลง ซึ่งถือว่าผลการดำเนินงาน “ทรุด” ผลลัพธ์ที่ออกมาน่าผิดหวังโดยเฉพาะแบงก์ใหญ่ !!!

สำหรับผลการดำเนินงานของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 แห่ง ช่วงปี 2562 (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562) มีดังนี้

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB รายงานผลการดำเนินงานปี 2562 มีกำไรสุทธิ 40,436.35 ล้านบาท หรือ 11.90 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 0.92% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 40,067.56 ล้านบาท หรือ 11.79 บาทต่อหุ้น แม้ว่าจะมีกำไรจากการขายเงินลงทุนจำนวนมาก แต่ก็มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นมาก รวมไปถึงรายได้จากธุรกิจประกันที่ลดลงหลังจากการขายออกไป โดยที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้าประกันชีวิตนั้นยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้จากธุรกิจประกัน ทางสินเชื่อหดตัวลงเนื่องจากการชำระคืนของสินเชื่อรายใหญ่ ในขณะที่ NPL เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีอยู่ 2.85% เป็น  3.41% ทำให้กำไรเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK รายงานผลการดำเนินงานปี 2562 มีกำไรสุทธิ 38,726.74 ล้านบาท หรือ 16.18 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 0.70% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 38,459.12 ล้านบาท หรือ 16.07 บาทต่อหุ้น ส่วนใหญ่เกิดจากกำไรจากเงินลงทุน แต่ทางด้านรายได้หลักมีการอ่อนตัวลง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน รวมถึงสำรองฯ ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ NPL เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีอยู่ 3.34% เป็น  3.65%

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL รายงานผลการดำเนินงานปี 2562 มีกำไรสุทธิ 35,816.09 ล้านบาท หรือ 18.76 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 1.38% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 35,329.97 ล้านบาท หรือ 18.51 บาทต่อหุ้น โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังทรงตัว ขณะที่มีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่โต สาเหตุหลักมาจากกำไรจากเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการยังคงเติบโตจากค่าธรรมเนียมจากการปล่อยสินเชื่อ และค่าธรรมเนียมจากบริการประกันและกองทุน แต่ถูกหักล้างจากการตั้งสำรองฯ ที่สูงขึ้นมาก เพื่อเสริมสร้างระดับสำรองฯ ให้แข็งแกร่ง ทำให้กำไรทั้งปี 2562 เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ NPL ทรงตัวจากปีก่อนที่มีอยู่ 3.40% เท่าเดิม 3.40%

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB รายงานผลการดำเนินงานปี 2562 มีกำไรสุทธิ 29,284.04 ล้านบาท หรือ 2.09 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 2.78% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 28,491.29 ล้านบาท หรือ 2.04 บาทต่อหุ้น เนื่องจากมีรายได้ทั้งรายได้ดอกเบี้ย และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้น และยังมีการตั้งสำรองฯ ลดลงในปี 2562 แต่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายพนักงาน และสำรองการด้อยค่าของสินทรัพย์ ทำให้กำไรปรับขึ้นไม่มากนัก ในขณะที่ NPL ลดลงจากปีก่อนที่มีอยู่ 1.94% เหลือ 1.83%

บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG รายงานผลการดำเนินงานปี 2562 มีกำไรสุทธิ 3,214.60 ล้านบาท หรือ 0.152 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 3.42% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 3,108.19 ล้านบาท หรือ 0.147 บาทต่อหุ้น เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยยังเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้กำไรจากเงินลงทุน และรายได้เงินปันผลยังเพิ่มสูงขึ้นมาก ส่งผลให้กำไรปี 2562 เพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นมากก็ตาม ในขณะที่ NPL ลดลงจากปีก่อนที่มีอยู่ 1.93% เหลือ 1.55%

บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO รายงานผลการดำเนินงานปี 2562 มีกำไรสุทธิ 7,270.23 ล้านบาท หรือ 9.08 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 3.63% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 7,015.69 ล้านบาท หรือ 8.60 บาทต่อหุ้น เนื่องจากการตั้งสำรองค่าเผื่อฯ ที่ลดลง เพราะมีสำรองส่วนเกินจาก TFRS 9 และคุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น แต่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยหดตัวเพราะในปี 2561 มีกำไรจากการขายเงินลงทุนก้อนใหญ่ และรายได้ค่าธรรมเนียมต่ำลง ในขณะที่ NPL ลดลงจากปีก่อนที่มีอยู่ 2.86% เหลือ 2.40%

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY รายงานผลการดำเนินงานปี 2562 มีกำไรสุทธิ 32,748.51 ล้านบาท หรือ 4.45 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 31.98% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 24,812.64 ล้านบาท หรือ 3.37 บาทต่อหุ้น เป็นผลจากการขายหุ้นเงินติดล้อออกไปทำให้กำไรเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีสินเชื่อเติบโตอย่างโดดเด่น จากทุกประเภทสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ NPL ลดลงจากปีก่อนที่มีอยู่ 2.08% เหลือ 1.98%

ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT รายงานผลการดำเนินงานปี 2562 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 1,501.60 ล้านบาท หรือ 0.0431 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 21,662.32% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 6.90 ล้านบาท หรือ 0.0002 บาทต่อหุ้น สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงกระบวนการเพื่อเพิ่มคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารและการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานสุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ในขณะที่ NPL เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีอยู่ 4.30% เป็น 4.60%

ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP รายงานผลการดำเนินงานปี 2562 มีกำไรสุทธิลดลงเหลือ 5,988.44 ล้านบาท หรือ 7.07 บาทต่อหุ้น ลดลง 0.89% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 6,041.98 ล้านบาท หรือ 7.14 บาทต่อหุ้น เหตุจากรายได้จาก IB และขายประกันลดลง ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยหดตัว เพราะมีขาดทุนจากขายสินทรัพย์หลักประกันที่ยึดมาสูงขึ้น ด้านค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูงขึ้นจากซื้อวัสดุ อุปกรณ์ และปรับปรุงอาคาร KKP Tower ในขณะที่ NPL ลดลงจากปีก่อนที่มีอยู่ 4.10% เหลือ 4%

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB รายงานผลการดำเนินงานปี 2562 มีกำไรสุทธิลดลงเหลือ 7,222.48 ล้านบาท หรือ 0.1485 บาทต่อหุ้น ลดลง 37.74% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 11,601.24 ล้านบาท หรือ 0.2646 บาทต่อหุ้น เหตุจากค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นก่อนการซื้อกิจการและรายได้ค่าธรรมเนียมที่อ่อนตัวลง ในขณะที่ NPL ลดลงจากปีก่อนที่มีอยู่ 2.76% เหลือ 2.30%

ด้วยภาพรวมผลกำไรสุทธิในปี 2562 ของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์เติบโตไม่มากนัก คงยัง “ทรงตัว” ประกอบกับสิ่งที่น่ากังวลในส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของแบงก์ใหญ่เพิ่มขึ้น

ดังนั้นสถานการณ์ของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะดีขึ้นหรือทรุดลงในปี 2563 ต้องตรึกตรองกันต่อไป !!!

Back to top button