การคำนวณราคาปิดสถานะสัญญาฟิวเจอร์ส สำหรับ block trade เมื่อหุ้นอ้างอิงจ่ายปันผลพิเศษ

คำถามที่มักเกิดกับนักลงทุนที่ถือธุรกรรม block trade เป็นเครื่องมือในการลงทุนอยู่เสมอคือนักลงทุนจะมีวิธีการคำนวณราคาปิดสถานะสัญญาฟิวเจอร์สอย่างไร


คำถามที่มักเกิดกับนักลงทุนที่ถือธุรกรรม block trade เป็นเครื่องมือในการลงทุนอยู่เสมอคือนักลงทุนจะมีวิธีการคำนวณราคาปิดสถานะสัญญาฟิวเจอร์สอย่างไรเมื่อหุ้นอ้างอิงมี Corporate Action ในลักษณะต่างๆ เช่นการจ่ายเงินปันผลพิเศษ (XD) การให้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน (XR) และการออกใบสำคัญแสดงสิทธิ (XW) เป็นต้น

Corporate Action ต่างๆนี้อาจจะส่งผลให้ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าฯ (TFEX) ทำการปรับลักษณะสัญญาโดยปรับขนาดของสัญญาฟิวเจอร์ส (Contract Multiplier) ให้สะท้อนสิทธิของนักลงทุนที่มีสถานะคงค้างพึงจะได้รับจาก Corporate Action ดังกล่าว

ในบทความนี้ เราจะยกตัวอย่างกรณีของสัญญาฟิวเจอร์สที่หลักทรัพย์อ้างอิงมีการจ่ายเงินปันผลพิเศษ ซึ่งเงินปันผลนี้บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์จะระบุอย่างชัดเจนในข่าวแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าเป็นเงินปันผลพิเศษ และ TFEX จะทำการปรับสิทธิของสัญญาฟิวเจอร์สในเวลาสิ้นวันก่อนวันที่หลักทรัพย์อ้างอิงจะขึ้นเครื่องหมาย XD

วิธีการในการคำนวณราคาปิดสถานะที่จะนำเสนอในบทความนี้ คือการคำนวณแบบคิดมูลค่ารวมของสัญญา (Total Notional Value) โดยเทียบเคียงกับกรณีที่นักลงทุนซื้อหุ้นอ้างอิงในจำนวนที่เท่ากัน  ซึ่งโดยปกติแล้วโบรกเกอร์ที่ให้บริการธุรกรรม block trade ก็จะทำการซื้อหรือขายหลักทรัพย์อ้างอิงนั้นเพื่อเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยง

เพื่อให้นักลงทุนเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จะขอยกตัวอย่างวิธีการคำนวณโดยใช้รายการหุ้น TCAP ซึ่งมีการขึ้นเครื่องหมาย XD ในการจ่ายเงินปันผลพิเศษที่อัตรา 4 บาทต่อหุ้น และ TFEX มีการปรับขนาดสัญญาฟิวเจอร์สในวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา

ยกตัวอย่างเช่น ในวันที่ 20 ธันวาคม 2562 นักลงทุนมีการเปิดสถานะ Long ฟิวเจอร์ส TCAPH20 จำนวน 100 สัญญา (ที่ราคาหุ้นอ้างอิง 57 บาท) โดยขนาดของสัญญาคือ 1,000 หุ้นต่อ 1 สัญญา มูลค่ารวมตอนเปิดสถานะสัญญาจะอยู่ที่ 57 x 100 x 1,000 = 5,700,000 บาท ซึ่งเทียบเคียงได้กับการซื้อหุ้น TCAP จำนวน 100,000 หุ้น

ต่อมาก่อนสิ้นวันที่ 26 ธันวาคม 2562 หุ้น TCAP มีการประกาศจ่ายเงินปันผลในอัตรา 4 บาทต่อหุ้น  TFEX ประกาศขนาดของสัญญาที่ปรับใหม่เป็น 1,075 หุ้น ต่อ 1 สัญญา และเปลี่ยนสัญลักษณ์สัญญาฟิวเจอร์สจาก TCAPH20 เป็น TCAPH20X

หากในวันที่ 30 ธันวาคม 2562 นักลงทุนส่งคำสั่งปิดสถานะสัญญาฟิวเจอร์สดังกล่าว (ที่ราคาหุ้น TCAP 54 บาท) เมื่อคำนวณโดยใช้จำนวนหุ้นที่เทียบเคียงขณะเปิดสถานะ นักลงทุนจะได้มูลค่าของสัญญาฟิวเจอร์สขณะปิดสถานะคือ 54 x 100,000 = 5,400,000 บาท

ในกรณีที่โบรกเกอร์ที่ทำธุรกรรม block trade กำหนดสัดส่วนการคืนเงินปันผลไว้ที่ 90% เงินปันผลที่นักลงทุนพึงจะได้รับจะมีค่าเท่ากับ 4 x 90% x 100,000 = 360,000 บาท  พร้อมกับมีรายการดอกเบี้ยจ่ายอัตรา 5% ต่อปีสำหรับธุรกรรม block trade ที่เปิดสัญญาไว้เป็นระยะเวลา 10 วัน (วันที่ 20 – 29 ธันวาคม 2562) จำนวนเงินดอกเบี้ยที่นักลงทุนจ่ายจะเท่ากับ 5,700,000 x 5% x 10 / 365 = 7,808.2192 บาท

ดังนั้น มูลค่ารวมของสัญญาฟิวเจอร์สขณะปิดสถานะหลังจากรวมเงินปันผลรับและหักดอกเบี้ยจ่ายแล้ว จะสรุปที่ 5,400,000 + 360,000 – 7,808.2192 =  5,752,191.78 บาท และเมื่อหารด้วยจำนวนสัญญาและขนาดของสัญญา (ที่ปรับใหม่) นักลงทุนจะได้ราคาสถานะปิดที่ = 5,752,191.78 / 100 / 1,075 = 53.5088 บาท

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการใช้มูลค่ารวมในการคำนวณราคาปิดสถานะสัญญาฟิวเจอร์ส เป็นวิธีการที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา เข้าใจง่ายและนักลงทุนมีแนวโน้มได้รับผลตอบแทนที่สมเหตุสมผล

นักลงทุนสามารถติดตามเกร็ดความรู้เกี่ยวกับธุรกรรม block trade และ DW จาก JPMorgan ได้ในบทความถัดไป

* การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน *

Back to top button