แบงก์(ต้อง)ซื้อหุ้นคืน

หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงอย่างหนักจริง ๆ


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงอย่างหนักจริง ๆ

หากนับจากสิ้นปี 2562 จะพบว่า ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 441.46 จุด

ล่าสุด วานนี้ (11 มี.ค.) ดัชนีกลุ่มฯ ลงมาเหลือเพียง 313.91 จุด

เท่ากับว่า ในช่วง 2 เดือนกับอีก 11 วัน ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารลงมาแล้ว 29%

หุ้นแบงก์ปรับลงทุกตัวครับไม่เว้นแต่ TISCO ที่นักวิเคราะห์จากโบรกฯ หลายแห่ง มองว่า แกร่งสุดในกลุ่มฯ

ก็ยังถูกเทขายออกมา จนราคาหุ้นร่วงหลุด 100 บาท

ส่วนแบงก์ขนาดใหญ่ทั้ง KBANK SCB BBL และ KTB นั้น ราคาหุ้นตอนนี้เรียกว่าดูกันไม่จืดเลยล่ะ

ต้องยอมรับว่า ธนาคารหลายแห่งเผชิญกับปัจจัยลบมาตั้งแต่ปี 2561 และเรื่อยมาจนถึงปี 2562 จากมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS 9 ที่จะต้องตั้งสำรองฯ กันเพิ่มขึ้น

รวมถึงเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ต้องระวังการปล่อยสินเชื่อ

เพราะหากปล่อยแบบซี้ซั้ว อาจทำให้หนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลอ่อนแอ แย่ลงไปอีก

ทว่า แม้จะต้องเจอกับปัจจัยลบที่ว่ามานั้น

แต่ราคาหุ้นของแบงก์ (ทั้งหมด) ในมุมมองของนักวิเคราะห์ ต่างมองว่า หุ้นหลายตัวในกลุ่มแบงก์ ร่วงลงมาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน หรือรับกับข่าวลบไปแล้ว

สรุปง่าย ๆ คือ ราคาหุ้นลดลงมามากเกินไป

และทำให้ผู้บริหารของธนาคารต่างต้องปรับแผน เรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน

เริ่มจากในช่วงปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา “แบงก์กสิกรไทย” ที่ประกาศซื้อหุ้นคืน

งานนี้ “เสี่ยปั้น” นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ KBANK ต้องออกตัวมาให้ข่าวเอง (อีกครั้ง)

ก่อนประกาศดังกล่าวของ KBANK

ราคาหุ้นกำลังดิ่งลงไปต่ำกว่า 130 บาทต่อหุ้น (ปิด 29 ม.ค. ที่ 133.50 บาทต่อหุ้น)

บอร์ดของ KBANK จึงมีมติออกมาจะซื้อหุ้นของธนาคารคืนในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์ฯ สูงสุดไม่เกิน 23.93 ล้านหุ้น หรือไม่เกิน 1% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด

วงเงินกำหนดไว้ไม่เกิน 4,600 ล้านบาท

ช่วงระยะเวลาในการซื้อหุ้นคืน 10 วันทำการ ระหว่างวันที่ 14-27 กุมภาพันธ์ 2563

ราคาเสนอซื้อจะไม่เกินราคาปิดของหุ้นเฉลี่ย 5 วันทำการซื้อขายก่อนวันซื้อหุ้นคืน บวกด้วยจำนวน 15% ของราคาปิดเฉลี่ย

เงินที่ใช้ซื้อหุ้นคืนจะเป็นเงินสดจากสภาพคล่องภายในของธนาคาร

ปัจจุบัน KBANK มีเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) สูงถึง 19.62%

ตัวเลขนี้ถือว่า มีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์และธุรกิจของธนาคาร มาตรฐาน BASEL 4 และปัจจัยที่อาจจะเป็นผลกระทบในอนาคต

KBANK ยังคงมีสภาพคล่องทางการเงินอย่างเพียงพอ

และตัวเลขที่น่าสนใจ คือ “มีกำไรสะสม” ของ KBANK ที่ยังไม่ได้จัดสรรสูงถึง 299,217 ล้านบาท

ล่าสุด เมื่อวานนี้ สด ๆ ร้อน ๆ

แบงก์ไทยพาณิชย์ หรือ SCB ได้ประกาศซื้อหุ้นคืนเช่นกัน

บอร์ด SCB อนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนของธนาคารในจำนวนไม่เกิน 135.96 ล้านหุ้น

หรือคิดเป็น 4% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

กำหนดวงเงินไม่เกิน 16,000 ล้านบาท และเป็นการเข้าซื้อในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ส่วนกำหนดระยะเวลาซื้อหุ้นคืนเป็นเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. 63 ถึงวันที่ 19 ต.ค. 63

ในรายของ SCB จะเห็นว่าใช้เงินมากกว่ากสิกรไทย และมีกำหนดเวลายาวนานกว่า หรือ 6 เดือน

SCB บอกว่า การซื้อหุ้นคืนในครั้งนี้คือเพื่อเป็นการดูแลผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้น

“สถานะทางการเงินและขีดความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง โดยธนาคารยังคงมีพื้นฐานที่แข็งแรงและพร้อมที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว รวมถึงเพื่อให้ราคาหุ้นของธนาคารสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของธนาคารได้มากยิ่งขึ้น” SCB ระบุไว้

วานนี้ราคาหุ้น SCB ปิด 73.75 บาท (ลดลง 0.50 บาท)

บทวิเคราะห์ของโบรกฯ หลายแห่งระบุไว้น่าสนใจ

มีการบอกว่า ราคาหุ้นแบงก์หลายตัวถูกมาก ๆ

หรือลงมาเกือบจะเท่า ๆ กับช่วงวิกฤติปี 2540 แล้ว เมื่อดูจากทั้ง P/E และ P/BV

Back to top button