“พาณิชย์” เชื่อส่งออกไตรมาส 2 โต หลังศก.จีนฟื้น-สงครามการค้าคลี่คลาย

“กระทรวงพาณิชย์” จับสัญญาณส่งออกไทยไตรมาส 2 ขยายตัว หลังเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นจากวิกฤตโควิด19-สงครามการค้าคลี่คลาย


น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้การส่งออกของไทยอาจกลับมาขยายตัวช่วงปลายไตรมาส 2

โดยสินค้าหลักที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มได้หลังจากนี้ ได้แก่ สินค้าอาหาร เช่น ข้าว ผักผลไม้ มันสำปะหลัง ยางพารา ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป เครื่องดื่ม สิ่งปรุงรสอาหาร ผู้บริโภคจีนยังมีกำลังซื้อเหลืออยู่มาก เนื่องจากจีนยกเลิกเทศกาลตรุษจีนเดือนมกราคมที่ผ่านมา ประกอบกับเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว จึงคาดว่าจะมีความต้องการสินค้าอีกมาก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของยุโรปกลับทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในอิตาลี สเปน และสหราชอาณาจักร แต่ในระยะสั้นพบว่าการนำเข้าสินค้าและภาคการขนส่งยังสามารถดำเนินการได้เป็นปกติ และคาดว่าสินค้าอาหารและเวชภัณฑ์จะเป็นที่ต้องการอย่างมากในยุโรปในช่วงถัดไป เบื้องต้นแนะนำให้ผู้ประกอบการสินค้าอาหาร เพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการแปรรูปหรือปรุงสำเร็จ จะช่วยให้สามารถเจาะตลาดคู่ค้าง่ายขึ้นในช่วงที่ประชาชนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน โดยอาศัยความได้เปรียบจากการที่สินค้าอาหารจากไทยมีชื่อเสียง และได้รับความเชื่อถือเรื่องความปลอดภัย และมีมาตรฐานการรับรองจากหน่วยงานในระดับสากล

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2563 ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังทำได้ดีกว่าหลายประเทศและมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นในหลายตลาด เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเชื่อว่าการส่งออกไทยยังมีโอกาสเติบโตได้ในตลาดโลกที่ยังมีความต้องการสูง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร ไทยสามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมบางรายการที่เริ่มฟื้นตัวจากผลของสงครามการค้าที่ลดลง เห็นได้ชัดจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สนค.ได้วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกสินค้าที่มีการเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าจะมีความต้องการสูงขึ้นในช่วงถัดไป แนะให้ผู้ส่งออกเตรียมความพร้อม โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่มีการเติบโตดี อาทิ ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และ 6 ตามลำดับ โดยเฉพาะในตลาดจีน สหรัฐฯ ตุรกี และเกาหลีใต้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเร่งรัดติดตามการส่งออกสินค้าจากการลงนาม MOU โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์

นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่คาดว่าจะมีความต้องการสูงขึ้นในช่วงที่ประชาชนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ตลาดสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูป ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ตลาดสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และจีน โดยเฉพาะตลาดจีนที่มีการระบาดของไข้หวัดนกและไข้หวัดสุกรก่อนหน้านี้ ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก จึงมีความต้องการนำเข้าเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่องค์การอาหารและการเกษตร (FAO) เปิดเผยว่ามาตรการปิดเมืองของประเทศต่างๆ ทำให้เกิดการกักตุนอาหาร ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อด้านอาหารทั่วโลก จึงคาดว่าจะทำให้ความต้องการสินค้าอาหารจากทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เป็นโอกาสที่ไทยจะนำเสนอสินค้าให้กับผู้บริโภคในหลายตลาด

ด้านสินค้าอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการส่งออกเติบโตดี อาทิ เครื่องยนต์สันดาปฯ และส่วนประกอบรถยนต์ Tier 2 และ 3 ที่ไทยมีศักยภาพในการผลิต ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวดีในช่วงที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ ถุงมือยาง เติบโตกว่าร้อยละ 180 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาที่มีการระบาดของไวรัสโควิด 19

รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีก่อนหน้า เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ กลับมาขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

นอกจากนี้ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง การส่งออกเพิ่มขึ้นของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ แสดงให้เห็นว่าผลของสงครามการค้าได้ลดลงแล้ว และเป็นสัญญาณที่ดีในการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทย

Back to top button