ไก่ได้พลอย และ กับดักสภาพคล่อง

ภาวะขึ้นแบบรีบาวด์แรงของตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะ 2 วันอังคารและพุธที่ผ่านมา มีคนเปรียบเปรยเอาไว้ว่าสะท้อนความหวั่นไหวทางอารมณ์ของนักลงทุนสถาบันและ “ขาใหญ่” ทั่วโลก ที่แสดงออกแบบ “ไก่ได้พลอย” หรือ “ลิงได้แหวน” ที่มองเห็นปรากฏการณ์แก้ปัญหาแบบ “แก้ผ้าเอาหน้ารอด” ที่สร้างปัญหาในระยะยาว


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

ภาวะขึ้นแบบรีบาวด์แรงของตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะ 2 วันอังคารและพุธที่ผ่านมา มีคนเปรียบเปรยเอาไว้ว่าสะท้อนความหวั่นไหวทางอารมณ์ของนักลงทุนสถาบันและ ขาใหญ่ ทั่วโลก ที่แสดงออกแบบ ไก่ได้พลอย หรือ ลิงได้แหวน ที่มองเห็นปรากฏการณ์แก้ปัญหาแบบ แก้ผ้าเอาหน้ารอด ที่สร้างปัญหาในระยะยาว

การวิ่งของดัชนีดาวโจนส์กว่า 2,500 จุด ภายในสองวันดังกล่าว ไม่ได้ต้องการบอกว่าจะมีการ breakout ของตลาดแต่เป็นการหาเรื่อง ออกของยามโอกาสเปิด โดยอ้างเหตุ ขานรับข่าวทำเนียบขาวและวุฒิสภาสหรัฐฯ สามารถบรรลุข้อตกลงในการออกมาตรการเยียวยาชาวอเมริกันและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ขณะที่นักลงทุนคาดหวังว่ามาตรการดังกล่าวซึ่งมีวงเงินสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์จะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาสหรัฐฯ

มาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการทางการคลังที่ออกมาเสริมมาตรการทางการเงินของเฟด ที่ประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะทุ่มเงิน QE ไม่อั้น เพื่อช่วยประคองธุรกิจไม่ให้ซวนเซผ่านตลาดตราสารหนี้

มาตรการทางการคลังใหม่นี้ยังรวมถึงการจัดสรรเงินกู้วงเงิน 3.67 แสนล้านดอลลาร์ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก และสนับสนุนโครงการที่จะจัดสรรเงินให้แก่กระทวงการคลังในวงเงิน 5 แสนล้านดอลลาร์

ภายใต้มาตรการดังกล่าวนี้ ชาวอเมริกันที่เป็นผู้ใหญ่จะได้รับเงินสดโดยตรงคนละ 1,200 ดอลลาร์ ขณะที่เด็กจะได้รับเช็คเงินสดคนละ 500 ดอลลาร์ ส่วนโรงพยาบาลต่าง ๆ จะได้รับการจัดสรรเงินรวม 1.50 แสนล้านดอลลาร์ และธุรกิจขนาดเล็กจะได้รับเงินช่วยเหลือในวงเงินรวม 3.67 แสนล้านดอลลาร์

แน่นอนว่ามาตรการทางการคลังนี้กลุ่มทุนที่ได้รับประโยชน์จะเป็นทุนใหญ่มากกว่าปกติ เช่น นักลงทุนคาดหวังว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะยื่นมือช่วยเหลือโบอิ้งซึ่งกำลังประสบปัญหาด้านการเงินแม้ว่าผู้บริหารของโบอิ้งยังคงยืนยันว่า ทางบริษัทจะไม่ยินยอมให้รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าถือหุ้นโบอิ้งเพื่อแลกกับความช่วยเหลือในช่วงเวลานี้

การพุ่งขึ้นของหุ้นโบอิ้งได้ช่วยหนุนหุ้นตัวอื่น ๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์และอื่น ๆ ดีดตัวขึ้นด้วยโดยหุ้นยูไนเต็ด เทคโนโลยีส์ ทะยานขึ้น 10.6% หุ้นแคทเธอร์พิลลาร์ บวก 3.3% หุ้นเจเนอรัล อิเล็กทริก ดีดขึ้น 7.85% หุ้นอีตัน คอร์ป บวก 4.5% หุ้นเอเมอร์สัน อิเล็กทริก พุ่งขึ้น 7.06%

อีกด้านหนึ่งของการขานรับข่าวดี ก็มีปฏิกิริยาเชิงลบตามมาในตลาดตราสารหนี้เมื่อบอนด์ยีลด์หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะติดลบแล้วในวันนี้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ขณะที่นักลงทุนพากันเข้าซื้อพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ล่าสุด อัตราผลตอบแทนตั๋วเงินคลังสหรัฐฯ อายุ 1 เดือน ปรับตัวลงสู่ระดับ -0.010% ในวันนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนตั๋วเงินคลังอายุ 3 เดือน ปรับตัวลงสู่ระดับ -0.030% ซึ่งเป็นเวลาเพียง 1 สัปดาห์ครึ่งหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมฉุกเฉินเมื่อวันที่ 15 มี.ค.

การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะติดลบในวันนี้ ส่งผลให้สหรัฐฯ อยู่ในกลุ่มประเทศในยุโรปและญี่ปุ่นที่มีอัตราผลตอบแทนพันธบัตรติดลบเช่นกัน

ภาวะเช่นนี้คือสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์เซียนเรียกกว่า “กับดักสภาพคล่อง (liqudity trap)” อันบ่งบอกว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยและเงินฝืดเรื้อรังนั่นเอง

ภาวะเงินฝืดเรื้อรังเช่นนี้จะดำรงอยู่ยาวนานแค่ไหน แล้วส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกอย่างไร เป็นคำถามที่ท้าทายยิ่ง

ในอดีตอันใกล้ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของอเมริกันล่มสลาย ทำให้มาตรการทางการคลังสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง ยอดหนี้สาธารณะพุ่งชนเพดาน จนกระทั่ง โดนัลด์ ทรัมป์เข้าขอยกเลิกเพดานก่อหนี้สาธารณะเมื่อ 3 ปีก่อน ทำให้เฟด ต้องออกมาตรการพิมพ์ธนบัตรภายใต้มาตรการ QE ออกมา (ซึ่งถูกลอกเลียนอย่างรวดเร็วจากธนาคารกลางญี่ปุ่นและยุโรป)

มาตรการ QE ครั้งแรก ดูท่าได้ผลดีช่วงหนึ่ง เพราะด้านหนึ่งช่วยทำให้ธุรกิจอเมริกันสามารถต่ออายุออกไปช่วยแก้ปัญหาการว่างงานพอสมควร แต่ก็เปิดจุดอ่อนเพิ่มขึ้น เพราะทำให้โลกเข้าสู่ช่วงดอกเบี้ยต่ำติดพื้นจากเงินท่วมโลก

เงินที่ท่วมโลกเพราะการลงทุนในภาคการผลิตต่ำกว่าเงินออม (I<S) ทำให้เกิดผลดีกับตลาดหุ้นโดยตรง แต่เป็นผลเสียกับตลาดตราสารหนี้ และโดยอ้อมทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุนเก็งกำไรผ่านการทำแครี่เทรดค่าดอลลาร์ทั่วโลก

ทุนเก็งกำไรที่ท่วมโลกผลักดันดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกบวกเป็นขาขึ้นยาวนาน สวนทางกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ฟื้นตัวช้ามาก ทำให้ค่าพี/อีเฉลี่ยของตลาดหุ้นหลักของโลกและตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่สูงลิ่ว

การอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาล แม้จะไม่ได้ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของอเมริกันดีขึ้น แต่ช่วยให้การจ้างงานดีขึ้นจนเฟด ตัดสินใจทยอยลดและเลิกมาตรการ QE (ตามมาด้วยธนาคารกลางยุโรป เหลือแค่ญี่ปุ่นที่ยังคงใช้จนถึงปัจจุบัน)

ยุคของดอกเบี้ยต่ำติดพื้นทำท่าจบลงชั่วคราวเมื่อทรัมป์ตัดสินใจใช้สงครามการค้าเข้ามาเสริมเพื่อดันให้การลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ยุคของดอกเบี้ยต่ำกลับมาอีกครั้ง ภายใต้สถานการณ์ใหม่

ตัวเลขหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่พุ่งทะลุเพดานทำนิวไฮเรื่อย ๆ รวมทั้ง QE (และมาตรการดอกเบี้ย 0% ของเฟด) จะเร่งส่งผลให้หนี้ทั้งในและหนี้ต่างประเทศที่พอกพูนจะกดดันค่าดอลลาร์ให้เริ่มเสื่อมถอยลงต่อเนื่อง ทำให้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนนับจากนี้ไปผันผวนรุนแรงจนยากจะคาดเดา

ภาวะ ตาบอดคลำช้าง จากนี้ไป คืออันตรายของการลงทุนเก็งกำไรที่ต้องย้ำเตือนกันให้ดี

อย่าเห็นช้างขี้ ขี้ตามช้างเป็นอันขาด

Back to top button