BA ยกเลิก 30 เส้นทางช่วง COVID-19 ระบาด เร่งปรับแผนลดค่าใช้จ่าย-ชำระหนี้

BA ยกเลิก 30 เส้นทางช่วง COVID-19 ระบาด เร่งปรับแผนลดค่าใช้จ่าย-ชำระหนี้


บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA แจ้งว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังเพิ่มความรุนแรงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับธุรกิจการบินทั่วโลก ซึ่งรวมถึงบริษัทจึงออกมาตรการเพื่อบริหารจัดการให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ดังนี้

การยกเลิกปฎิบัติการบินชั่วคราว รวม 30 เส้นทาง แบ่งเป็น เส้นทางบินระหว่างประเทศ 20 เส้นทาง ทำการยกเลิกตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.-24 ต.ค.63 และเส้นทางบินในประเทศ 10 เส้นทาง (จากทั้งหมด 17 เส้นทาง) ทำการยกเลิกปฏิบัติการบินชั่วคราวในช่วงตารางบินภาคฤดูร้อน (เม.ย.-ต.ค.63) ได้แก่ กรุงเทพ-เชียงราย ,กรุงเทพ-กระบี่ ,เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ,เชียงใหม่-ภูเก็ต ,เชียงใหม่-กระบี่ ,เชียงใหม่-สมุย ,กระบี่-สุมย ,ภูเก็ต-หาดใหญ่ ,ภูเก็ต-อู่ตะเภา และสุมย-อู่ตะเภา

ส่วนเส้นทางบินภายในประเทศที่ยังทำการปฏิบัติการบิน จำนวน 7 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพ-เชียงใหม่ ,กรุงเทพ-ภูเก็ต ,กรุงเทพ-ลำปาง ,กรุงเทพ-ตราด ,กรุงเทพ-สุโขทัย ,กรุงเทพ-สมุย และสมุย-ภูเก็ต โดยทำการปรับลดจำนวนเที่ยวบินลง และปรับเปลี่ยนฝูงบินเป็นทำการบินด้วยเครื่องบิน ATR เท่านั้น

ทั้งนี้ การหยุดปฏิบัติการบินชั่วคราวดังกล่าวจะส่งผลต่อรายได้หลักจากบัตรโดยสาร แต่สำหรับเส้นทางบินภายในประเทศที่ยังคงปฏิบัติการบินอยู่ทั้ง 7 เส้นทางบนสถานการณ์ปกตินั้น ณ ปี 62 มีสัดส่วนสร้างรายได้ให้แก่บริษัทประมาณ 50% ของรายได้จากผู้โดยสารทั้งหมด ขณะที่มีรายได้จากการขายและการบริการที่มาจากบริษัทย่อย คิดเป็น 15% ของรายได้รวม รวมทั้งมีรายได้จากเงินปันผลรับจากการลงทุนในธุรกิจอื่น คิดเป็น 2% ของรายได้รวมทั้งหมดด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแนวทางจะลดผลกระทบด้านรายได้ที่ลดต่ำลง และการจัดการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากการยกเลิกการปฏิบัติการบินชั่วคราวและปรับลดความถี่เที่ยวบิน ดังนี้ การปรับลดเงินเดือน และค่าตอบแทนสำหรับผู้บริหาร และพนักงาน ในอัตรา 10-50% ตามตำแหน่งงาน, การลาโดยไม่รับค่าจ้างของพนักงาน, การปรับลด/ยกเลิกสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงาน, การลดค่าใช้จ่ายด้านการปฏิบัติงาน ณ สถานีต่าง ๆ ทุกแห่ง โดยให้พนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามสถานีต่าง ๆ กลับมาประจำการที่สถานีกรุงเทพ

สำหรับการปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมอื่น ๆ รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ , การเจรจาขอลดค่าใช้จ่ายด้านการปฏิบัติการบินกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น ค่าเช่าพื่นที่ ค่าบริการภาคพื้นดิน ค่าจอดอากาศยาน ค่าจราจรทางอากาศ ค่าภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากค่าน้ำมันอากาศยาน เป็นต้น, การลดจำนวนเครื่องบินที่ใช้ในการปฏิบัติการ รวมทั้งการเจรจาต่อรองค่าเช่าเครื่องบินกับผู้ให้เช่าเครื่องบิน และการขอวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และการเจรจาปรับเปลี่ยนตารางการชำระหนี้

ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับผลกระทบในการประกอบกิจการที่เป็นนัยสำคัญ บริษัทจะรายงานต่อไป

 

 

Back to top button