เปิดโผหุ้น SET50 ในรอบ 4 เดือน ชู GULF-OSP วิ่งฝ่าโควิด-ชนะตลาดฯสุดแกร่ง!

เปิดโผหุ้น SET50 ในรอบ 4 เดือน ชู GULF-OSP วิ่งฝ่าโควิด-ชนะตลาดฯสุดแกร่ง!


ภาวะตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ยังอยู่ในโหมดของการพักตัวหรือปรับฐานเพื่อลดความร้อนแรงจากที่ฟื้นตัวเร็วในเดือน เม.ย.อย่างไรก็ตามภาพรวมตลาดในช่วง 4 เดือนแรกปี 2563 ยังเป็นขาลง โดยเห็นได้จากดัชนี SET ณ วันที่ 30 ธ.ค.62 อยู่ที่ระดับ 1579.84 จุด อ่อนตัวมาอยู่ที่ระดับ 1301.66 จุด ณ วันที่ 30 เม.ย.63 ลดลง 278.18 จุด หรือลดลง 17.60% เนื่องจากช่วงดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นพื้นฐานแกร่งส่วนนราคารับตัวลงแรงเกินพื้นฐาน

ดังนั้นทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการสำรวจกลุ่มหุ้น SET50  ในช่วงดังกล่าวมานำเสนอเพื่อให้เห็นทิศทางและเป็นโอกาสเข้าสะสมหุ้นพื้นฐานแกร่งราคาถูกเข้าพอร์ต โดยทำการเรียงลำดับข้อมูลราคาหุ้นปรับขึ้นมากสุดไปหาน้อยสุด โดยเปรียบเทียบข้อมูลราคาหุ้น ณ วันที่ 30 ธ.ค.62-30 เม.ย.63 ตามตารารางประกอบดังนี้

ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลกลุ่ม SET50 ในช่วง 4 เดือน พบว่ามีหุ้น 2 ตัว ที่ปรับตัวสวนภาวะตลาดหุ้นติดลบ โดยรายแรก คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างแข็งแกร่ง โดยราคาหุ้น ณ วันที่ 30 ธ.ค.62 อยู่ที่ระดับ 33.20 บาท บวก 5.50 บาท หรือเพิ่มขึ้น 16.72% มาอยู่ที่ระดับ 38.75 บาท

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หุ้นที่ได้รับผลบวกจากราคาน้ำมันลดลง ได้แก่ กลุ่มไฟฟ้า (BGRIM GPSC GULF) โดยต้นทุนหลักกว่า 70% มาจากก๊าซธรรมชาติซึ่งเชื่อมโยงกับราคาน้ำมัน โดยโรงไฟฟ้า SPP จะได้ประโยชน์ก่อนมีการปรับค่า Ft เพื่อสะท้อนต้นทุนการผลิตใหม่

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ในกลุ่มโรงไฟฟ้า แนะนำ GULF โดยยังคงมีมุมมองเชิงบวกจากแนวโน้มกำไรปกติปี 2563 ที่คาดว่าจะเติบโต 33% และ 5-10 ปีข้างหน้าเติบโตโดดเด่นต่อ เนื่องจากโรงไฟฟ้าใหม่ที่ทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) โดยมีสัญญา PPA รองรับ และมีศักยภาพในการขยายกำลังการผลิตอีกจาก Potential Projects ต่าง ๆ โดยเชื่อว่าฐานะการเงินยังอยู่ในระดับจัดการได้ แม้จะมีการลงทุนสูงใน 5 ปีข้างหน้า ขณะที่ความเสี่ยงจากโควิด-19 มีจำกัด จากสัดส่วนรายได้จากลูกค้าอุตสาหกรรมเพียง 11%

ด้านแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1/2563 ของ GULF คาดว่ากำไรปกติจะกลับมาเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่มาจากการซ่อมบำรุงของโรงไฟฟ้าในกลุ่มบริษัทร่วมน้อยลง และเป็นกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามกำไรสุทธิอาจถูกกระทบจากขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน (FX Loss) ทางบัญชี จากค่าเงินที่อ่อนค่า

ดังนั้น คาดว่ากำไรปี 2563 ของ GULF อยู่ที่ 4,680 ล้านบาท เติบโต 33% จากปีก่อน จากการรับรู้รายได้เต็มปีของโรงไฟฟ้า SPP 4 โรง และโครงการโซลาร์เวียดนาม 2 โรง ปัจจุบันมีกำลังผลิต 2,701 เมกะวัตต์ ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 7,781 เมกะวัตต์ภายในปี 2570 คาดกำไรใน 5 ปีข้างหน้า (ปี 2563-2567) โตเฉลี่ยต่อปี 39% ขณะที่ใน 10 ปีข้างหน้า (ปี 2563-2572) โตเฉลี่ยต่อปี 19% นอกจากนี้บริษัทยังมีการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น

 

ส่วนรายที่สองคือ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างแข็งแกร่ง โดยราคาหุ้น ณ วันที่ 30 ธ.ค.62 อยู่ที่ระดับ 40.50 บาท บวก 1.00 บาท หรือเพิ่มขึ้น 2.46 มาอยู่ที่ระดับ 41.50 บาท

บล.ดีบีเอสฯ ระบุว่า OSP ระยะยาวไปได้อีกไกลแม้จะได้รับผลลบในเดือน มี.ค.63 จากการระบาดของโควิด-19 แต่คาดว่ากำไรหลักไตรมาส1/63 ยังโตได้ จากการจัดทำประมาณการคาดว่าเป็น 917 ล้านบาท (+4.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน,+11.8% เทียบไตรมาสก่อนหน้า) สินค้าที่เติบโตดียังเป็น Functional Drink เช่น C-Vitt ที่มีการเติบโตมากที่สุด ราว 35-40% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

แต่จะได้รับผลลบโควิด-19 เต็มที่ในไตรมาส2/63 ในสินค้าประเภท Energy Drink ทั้งในและต่างประเทศซึ่งคือเมียนมาร์เป็นหลัก แต่สินค้า Functional Drink และของใช้ส่วนบุคคลยังไปได้ดี ช่วยค้ำไว้  อย่างไรก็ตามเราคาดว่าภาพการฟื้นตัวจะปรากฏให้เห็นในครึ่งหลังปีนี้ (2H63) เมื่อมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาราว 10-15% เทียบกับปี 62 จะยังผลให้อัตราการเติบโตของกำไรกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

คงคำแนะนำ ซื้อ ที่ราคาพื้นฐาน 48.00 บาท ซึ่งประเมินด้วยวิธี DCF ราคาปิดมีส่วนเพิ่มได้อีก 19% คาดการณ์อัตรการเติบโตกำไรหลักตลอดปีนี้และปี 64 เป็น +14%/+15% เทียบ เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ในระยะยาวคาดว่าการเติบโตส่วนหนึ่งจะมาจากการขยายไปยังต่างประเทศเพิ่มเติม เช่น เวียดนาม ที่บริษัทจะมีการรุกตลาดต่อไป

ทั้งนี้แม้ในช่วง 4 เดือนจะมีหุ้นบวกเพียง 2 ตัว แต่หากมองอีกด้านหุ้นทั้ง 48 ตัว ถือเป็นหุ้นพื้นฐานและมีหลายตัวที่ราคาอ่อนตัวลงแรงและราคาต่ำกว่า P/BV ที่ระดับ 1 เท่า อาทิ BBL,KBANK,SCB,PTTGC,TCAP,TOP,KTB,BANPU,PTTEP, IRPC,TMB และ TRUE ซึ่งตรงนี้ถือเป็นข้อมูลให้นักลงทุนใช้พิจารณาในการตัดสินเพื่อเลือกสะสมหุ้นเข้าพอร์ตไว้ลงทุนในช่วงภาวะตลาดฟื้นตัวรอบใหม่ก็เป็นได้

 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button