“พาณิชย์-ธ.ก.ส.” นำร่องช่วยเกษตรกร ใช้ไม้ยืนต้นมีค่า ค้ำประกันกู้เงิน สู้ “โควิด”

"พาณิชย์" จับมือ "ธ.ก.ส." ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีเงินทุนหมุนเวียน นำร่องใช้ไม้ยืนต้นมีค่าเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันขอสินเชื่อ สู้ "โควิด"


นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนต่างร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ อย่างเต็มที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เกษตรกร และภาคธุรกิจ ให้สามารถดำเนินชีวิตและเดินหน้าประกอบอาชีพได้อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รับไม้ยืนต้นที่มีค่ามาจดทะเบียนเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ พร้อมทั้งใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่ง ธ.ก.ส. เป็นธนาคารแรกที่เกษตรกรสามารถใช้ไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงิน ตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจฯ

“เบื้องต้น ธ.ก.ส. ได้นำร่องให้สินเชื่อแก่เกษตรกรที่มีการนำไม้ยืนต้นที่มีค่าที่ปลูกในบริเวณบ้านจำนวน 44 ต้น ประกอบด้วย มะขาม (9 ต้น) มะกอกป่า (1 ต้น) สะเดา (14 ต้น) ตะโก (1 ต้น) โมกมัน (1 ต้น) งิ้วป่า (1 ต้น) กระท้อน (1 ต้น) มะเกลือ (2 ต้น) ยอป่า (1 ต้น) มะม่วง (1 ต้น) และ ไม้แดง (12 ต้น) มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีไปแล้ว วงเงินสินเชื่อจำนวน 115,000 บาท ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่สถาบันการเงินให้ความสำคัญกับการใช้ไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ และเกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น” นายวีรศักดิ์ กล่าว

พร้อมกันนี้ รมช.พาณิชย์ ยังระบุเพิ่มเติมว่า เกษตรกรที่ต้องการกู้เงินและใช้ไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ต้องเป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. และเป็นสมาชิกธนาคารต้นไม้ โดยสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ ซึ่งขั้นตอนการกู้เงินเป็นไปตามระเบียบของ ธ.ก.ส. ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้ไม้ยืนต้นเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย.61 โดยมีแนวทางส่งเสริมให้ใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจทั้งเชิงพาณิชย์ รวมทั้งส่งเสริมเชิงอนุรักษ์ผ่าน ธ.ก.ส. เนื่องจากเป็นธนาคารที่มีการดำเนินโครงการธนาคารต้นไม้ ซึ่งกรมฯ และ ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการนำร่อง ณ ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ บ้านดอนศาลเจ้า อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

โดย ธ.ก.ส. ให้ผู้ที่ผ่านการอบรมผู้ประเมินมูลค่าต้นไม้ของ ธ.ก.ส. เป็นผู้ประเมินราคาต้นไม้ของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ด้วย ทำให้การนำไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจสามารถดำเนินได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะมีการขยายโครงการดังกล่าวให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ทั้งนี้ การส่งเสริมให้มีการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าบนพื้นที่ของตนเอง สามารถนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อได้ โดยไม่จำเป็นต้องตัดขายเพียงอย่างเดียว อีกทั้งไม้ยืนต้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตของต้นไม้

ดังนั้น มูลค่าทรัพย์สินของเกษตรกรก็จะมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมทั้งประเทศ การดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงและพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด จึงเป็นวิธีการยกระดับการแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญให้ทุเลาเบาบางลง

นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อน “โครงการชุมชนไม้มีค่า” ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรและประชาชนปลูกไม้มีค่าเพื่อการออม อนุรักษ์ เพิ่มพื้นที่ป่า และเพิ่มแหล่งออกซิเจนให้กับประเทศ ซึ่งทั้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ ธ.ก.ส. ต่างก็เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่านี้ด้วย

Back to top button