THAI ในมุมมองกองทุน

มีโอกาสได้พูดคุยกับนักบริหารด้านการเงินหลายคน


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

มีโอกาสได้พูดคุยกับนักบริหารด้านการเงินหลายคน

เกี่ยวกับปัญหา “การบินไทย” หรือ THAI

สรุปแบบง่าย ๆ เลยนะ

ความยากง่ายของการแก้ปัญหาครั้งนี้หากไม่มี “การเมือง” เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้วุ่นวาย และฝุ่นตลบ

การบินไทย แก้ปัญหาไม่ได้ยากหรอก

เพราะกิจการที่เข้าข่ายต้องฟื้นฟูฯ แบบเดียวกับการบินไทยนั้น

เสมือนว่า มันมีสูตรในการแก้ไขอยู่แล้ว

ลดทุน เพิ่มทุน ตัดค่าใช้จ่าย ทำแผนการตลาด ฯลฯ

และแน่นอนว่า ในกระบวนการฟื้นฟูฯ นั้น คนที่เป็น Stakeholder หรือเกี่ยวข้องกับการบินไทยก่อนหน้านี้ (ทั้งหมด) ต่างต้อง “เจ็บปวด” ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเจ็บหนัก เจ็บน้อยเท่านั้น

เจ้าหนี้เองก็ต้องเจ็บ จากการแฮร์คัท รายได้ดอกเบี้ยลดลง

พนักงานก็ต้องถูกปรับลดจำนวนลง ตัดรายได้ต่าง ๆ ลดสวัสดิการ เพื่อลดค่าใช้จ่าย

ผู้ถือหุ้นเอง ก็เลี่ยงไม่ได้ที่มูลค่าหุ้นตัวเองจะต้องลดลงจากการ “ลดทุน” (แล้วเพิ่มทุนในภายหลัง)

และอื่น ๆ อีกมากมายในกระบวนการฟื้นฟูฯ

ล่าสุด บรรดาเจ้าหนี้ที่เป็นกองทุนต่าง ๆ ด้วยการเข้ามาลงทุนในหุ้นกู้ของการบินไทย

ต่างก็จับจ้อง ติดตามแบบเกาะติด

ผู้จัดการกองทุนเขามองว่า “แบรนด์” ของ ”การบินไทย” นั้น มั่นใจว่ายังกลับมาเติบโตได้

เพียงแต่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ และแก้ไขทุก ๆ เรื่องอย่างจริงจัง

ส่วนระยะเวลาฟื้นฟูธุรกิจนั้น ขึ้นอยู่กับแผนฟื้นฟูของผู้บริหารแผนว่าจะออกมาในรูปแบบใด

การปรับโครงสร้างหนี้ที่ว่านี้ ก็จะต้อง “ลดต้นทุน” ให้ได้มากที่สุด

ส่วนงานไหนที่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ รวมถึงโครงสร้างของหน่วยงานบางส่วนที่เพิ่มภาระให้กับตัวธุรกิจโดยไม่จำเป็น ต้องตัดออกไป

ต่อมาคือ การปรับลดพนักงานให้ใกล้เคียงกับธุรกิจในยุคปัจจุบัน

ผู้จัดการกองทุนมองว่า จำนวนพนักงานของการบินไทยในขณะนี้มีอยู่เป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับยุคสมัยที่ปรับเปลี่ยนไป

และนั่นทำให้ทำให้เกินความจำเป็นของตัวธุรกิจ

หากจัดการทั้งสองปัจจัยนี้ได้ ก็จะสามารถทำให้ธุรกิจของการบินไทยกลับมาได้อีกครั้ง

ส่วนแผนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย จะออกมารูปแบบใด ผู้จัดการกองทุนเขาบอกว่าขึ้นอยู่กับกลุ่มเจ้าหนี้ของการบินไทยเป็นหลัก

หากกลุ่มเจ้าหนี้โหวตเพื่อเห็นชอบแผนฟื้นฟูธุรกิจที่ทางผู้ทำแผนเสนอมาไม่ถึง 51% ของเสียงทั้งหมด

แผนฟื้นฟูนั้นก็จะตกไปทันที

นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะเจ้าหนี้เองก็คงไม่ต้องการที่จะได้รับความเสียหายมากเช่นกัน

ขณะเดียวกันภายในกลุ่มเจ้าหนี้เอง ก็จะโหวตเพื่อเห็นชอบแผนธุรกิจที่ทางผู้ทำแผนเสนอมากันเองก่อน

และผลโหวตของกลุ่มเจ้าหนี้กันภายในจะต้องเห็นพ้องต้องกันไม่น้อยกว่า 75% ของเสียงกลุ่มเจ้าหนี้ทั้งหมดด้วย

ดังนั้น การจัดทำแผนฟื้นฟูฯ นั้น

ที่คนที่ชี้ชะตาจริง ๆ ก็คือ “เจ้าหนี้”

ผู้ทำแผนจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงการจัดทำแผนเป็นอย่างดี เพื่อให้ทุกฝ่ายไม่เสียหายมากจนเกินไป

กลับมาที่ “หุ้นกู้” การบินไทยที่กองทุนต่าง ๆ เข้าไปลงทุนจำนวนมาก

และมีกำหนดชำระในปี 2563

กองทุนต่างยอมรับว่าจะมีการเลื่อนการชำระออกไป

แต่ก็อยากให้นักลงทุนมั่นใจว่า นักลงทุนจะได้รับเงินลงทุนจากการลงทุนในหุ้นกู้คืนแน่นอน

“ธุรกิจของการบินไทยกำลังเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการแล้ว มั่นใจว่าจะออกมาในทิศทางที่ดี” นี่คือความคาดหวังของผู้จัดการกองทุนต่าง ๆ

Back to top button