โอกาสทองกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

เหตุการณ์ร่วงลงของราคาหุ้นจากการเทขายส่งผลไปยังราคาหุ้นของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IFUND) เช่นกัน ทั้งที่ผลประกอบการไม่น่าจะได้รับผลกระทบเหมือนหุ้นกลุ่มอื่นๆ


เส้นทางนักลงทุน

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก พร้อมกับก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนทุกกลุ่ม และหนีไม่พ้นการร่วงลงอย่างหนักของดัชนีตลาดหุ้นในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั่นเอง

เหตุการณ์ร่วงลงของราคาหุ้นที่เกิดจากการเทขายอย่างตื่นตระหนก ก็ได้ส่งผลไปยังราคาหุ้นของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IFUND) ให้ปรับตัวลงอย่างหนักด้วยเช่นกัน ทั้งที่ผลประกอบการไม่น่าจะได้รับผลกระทบเหมือนกับหุ้นกลุ่มอื่น ๆ

ผลดังกล่าวจึงมองว่าเป็นโอกาสทองสำหรับนักลงทุนที่กำลังมองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีและมีความมั่นคงระยะยาว “ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ”

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IFUND) มีที่มาของรายได้และความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน โดย IFUND ส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (PFUND) หรือกองทรัสต์ (REIT) ประเภทสิทธิการเช่า (leasehold) มีวันหมดอายุ โดยเมื่อใกล้ปีที่จะหมดอายุจะมีการลดพาร์ เพื่อคืนทุนให้แก่ผู้ถือหน่วย และจ่ายเงินปันผลลดลง

สำหรับรายได้ของ IFUND มาจากสิทธิ์รายได้จากการดำเนินงาน ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละกอง เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท หรือ BTSGIF มาจากค่าโดยสารสุทธิ, กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ EGATIF มาจากค่าความพร้อมจ่ายในการผลิตไฟฟ้า

ทว่ามีบางกองที่มีกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ (freehold) คือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF ที่เป็นกองที่มีกรรมสิทธิ์ใน FOC ทั้งหมด และมีบางกองที่มีลักษณะผสมทั้ง 2 แบบ เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF มีกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์บางส่วน และมีสิทธิ์รายได้ค่าเช่าในสินทรัพย์บางส่วน ที่ TRUE ติดสัญญาเช่ากับทาง CAT ซึ่ง DIF จะมีสิทธิ์ในการซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวในอนาคต

ดังนั้นจากกองทุนทั้งหมด ทาง บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เลือกเป็น Top Picks คือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF และ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF ซึ่งอยู่ในกลุ่ม ICT ทั้ง 2 กองทุน เนื่องจากรายได้ของกองทุนไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้ง 2 กองนี้จึงสามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอในอัตราสูงทุกไตรมาส จึงถือเป็นกองทุนที่ยังมีแนวโน้มจ่ายเงินปันผลในปีนี้ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าปีก่อนหน้า

โดยรายละเอียดมีดังนี้ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF เป็นกอง Freehold ที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์เส้นใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable) ทั้งหมด 1.68 ล้านคอร์กิโลเมตร ซึ่งเป็นสายเชื่อมต่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดย JASIF1 มีความยาว 980,500 คอร์กิโลเมตร และ JASIF2 ที่เพิ่งซื้อเพิ่มเข้ากองเมื่อ 20 พ.ย. 2564 อีกจำนวน 7 แสนคอร์กิโลเมตร Fiber Optic Cable มีอายุการงานใช้ได้ถึง 50 ปี และสามารถบำรุงรักษาโดยนำสายเส้นใหม่มาทดแทนเส้นเดิมที่เสื่อมสภาพได้ โดยมีค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาและเปลี่ยนแปลงค่อนข้างถูก

ค่าเช่าสามารถปรับขึ้นได้ทุกปี โดยอ้างอิงจากดัชนีผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในปีก่อนหน้า จึงไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เหมือนกองทุนอื่น ๆ โดยในปี 2563 ค่าเช่าปรับขึ้น 0.71% ตามดัชนีผู้บริโภคปี 2562 ที่เพิ่มขึ้น 0.71% ผลจากการซื้อสินทรัพย์ JASIF2 ทำให้ผู้เช่าหลักขยายอายุการรับประกันรายได้ของสินทรัพย์ JASIF1 ในส่วนของ 80% ของกำลังให้บริการจากเดิมที่สิ้นสุดการรับประกันรายได้ 22 ก.พ. 2569 ออกไปอีก 6 ปี เป็นสิ้นสุด 29 ม.ค. 2575 ซึ่งสิ้นสุดพร้อมกับการรับประกันรายได้ส่วนของค่าเช่าสินทรัพย์ JASIF2 100% ของกำลังให้บริการ นอกจากนี้กองทุน JASIF ยังมีโอกาสต่อสัญญาเช่าจาก JAS เพิ่มอีก 10 ปี  หากรายได้อินเทอร์เน็ตของ TTTB ในปี 2573 สูงมากกว่าหรือเท่ากับ 4 หมื่นล้านบาท และ TTTB สามารถต่อใบอนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้

ผู้เช่าหลักคือ JAS ต้องถือกองทุน JASIF สัดส่วน 15% เป็นระยะเวลา 6 ปี นับจาก 20 พ.ย. 2562 ทำให้หมดความกังวลเรื่องผู้เช่าหลักอาจเทขายกองทุน จนถึง 20 พ.ย. 2568 ขณะที่ปัจจุบัน JAS มีกำไรสะสมอยู่ราว 7 พันล้านบาท และส่วนเกินทุนของหุ้นสามัญอีก 7.9 ล้านบาท ทำให้ยังเชื่อว่า JAS ยังสามารถดำเนินงาน และจ่ายค่าเช่าให้ JASIF ตามปกติได้ภายใน 6 ปีนี้ แม้ในกรณีเลวร้ายสุด หาก JAS ต้องขาดทุนสุทธิต่อเนื่องทุกไตรมาสติดต่อกันเป็นระยะเวลา 6 ปี จากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง

ให้ผลตอบแทนเงินปันผลสูงสุดในบรรดากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยคาดการณ์เงินปันผลปีนี้ไตรมาสละ 0.24 บาท คิดเป็น Dividend Yield  10.1% ต่อปี ราคาเป้าหมายมี upside 36% คุ้มกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงผู้เช่าหลัก หากเทียบ DPU ปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ยังพบว่าผลตอบแทนเงินปันผลของ JASIF สูงสุดคือ 9.78% รองลงมาคือ BTSGIF ซึ่งในครึ่งแรกของปี 2563 ได้รับสิทธิ์รายได้จากค่าโดยสาร BTS เส้นทางหลัก ซึ่งโดยรับผลกระทบ COVID-19 ในปีนี้ ขณะเดียวกัน JASIF เป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพียงรายเดียวที่มีกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ 100% ซึ่งยังใช้ประโยชน์หรือขายสินทรัพย์ดังกล่าวหลังหมดอายุรับประกันรายได้

ในส่วนของคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 12.50 บาท

ทางด้าน กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF เป็นกองทุนที่มีส่วนผสมทั้ง Freehold และ Leasehold สินทรัพย์ส่วนที่ DIF เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ (freehold) ได้แก่ เสาโทรคมนาคม  9,727 เสา และสายใยแก้วนำแสง FOC 1,386,831 คอร์กิโลเมตร หมดอายุรับประกันรายได้ในปี 2576 และเป็นสิทธิการเช่าระยะยาว (leasehold) ได้แก่ สิทธิรายได้ค่าเช่า+สัญญาเช่าระยะยาว+สิทธิซื้อก่อน ของเสาโทรคมนาคม 6,332 เสา สายใยแก้วนำแสง FOC 1,683,853 คอร์กิโลเมตร และอุปกรณ์ระบบสื่อสัญญาณ 9,169 ลิงค์ ทั้งนี้ทาง TRUE จะรับประกันการเช่าใช้สินทรัพย์จากกองทุนจนถึง 15 ก.ย. 2576 แต่มีโอกาสต่อที่จะต่อสัญญาออกไปอีก 10 ปี ถ้า TRUE สามารถต่อใบอนุญาต Broad Band Internet ได้ และมีส่วนแบ่งตลาด 33% ขึ้นไป

รายได้ค่าเช่าเสาโทรคมนาคมสามารถปรับขึ้นทุกปีตามอัตราที่กำหนดจนถึงปี 2569 (เฉลี่ยปีละ 2%) ขณะรายได้ค่าเช่า FOC กำหนดคงที่ ส่งผลให้เงินปันผลมีโอกาสขยับขึ้นได้ตามอัตราค่าเช่าเสาที่ปรับขึ้นในแต่ละปี จนถึงปี 2569 ค่าเช่าจะอยู่ในอัตราคงที่ นอกจากนี้ปัจจุบัน DTAC มีการเช่าเสาจาก True ราว 1.7 พัน Slots จุดเด่นของเสาคือเป็นสินทรัพย์ที่ยังคงจำเป็นแม้เปลี่ยนเทคโนโลยี และสถานที่ติดตั้งเสาถูกคัดเลือกเป็นสถานที่ที่มีประสิทธิภาพกระจายคลื่นได้ดีสุด นอกจากนี้อายุการใช้งานของเสาเฉลี่ยอยู่ที่ 50-100 ปี ค่าบำรุงรักษาค่อนข้างต่ำ ทำให้ยังมีโอกาสที่ผู้ให้บริการมือถือรายอื่นจะมีโอกาสมาขอเช่าใช้บริการเพิ่ม ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่กอง DIF

ผู้เช่าหลักคือ TRUE ปัจจุบันถือ DIF สัดส่วนสูงถึง 28.9% แต่มีข้อจำกัดถือไม่ต่ำกว่า 8% TRUE จึงสามารถลดสัดส่วนการถือหุ้นได้อีกราว 20.9% หรือราว 2 พันกว่าหุ้น ซึ่งที่ผ่านมา TRUE ลดสัดส่วนการถือกอง DIF ออกไปบ้าง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในแก่กิจการ

TRUE มีการประมูลคลื่น 5G จำนวนมาก ทั้งคลื่นความถี่ต่ำ กลาง และสูง โดยใบอนุญาตมีอายุ 15 ปี   โดย TRUE มีจำนวนคลื่นน้อยกว่า ADVANC เพียงเล็กน้อย ซึ่งแสดงถึงความตั้งใจในการให้บริการมือถืออย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันธุรกิจมือถือของ TRUE สามารถขึ้นอันดับมาเป็นที่ 2 แซงหน้า DTAC ทั้งเชิงรายได้และจำนวนลูกค้า ขณะที่ธุรกิจบรอดแบนด์หรือ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครองส่วนแบ่งตลาด 33% เป็นอันดับ 1   รวมถึงการให้บริการตอบโจทย์ lifestyle ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโยลี หรือ New Normal โดยผสมผสาน ทั้งบริการ True Mobile, True Internet และ True-ID TV  พร้อมทั้งมีการขายบริการเป็นแพ็กเกจ ด้วยค่าบริการที่ถูกกว่า  ทั้งนี้เนื่องจากการลงทุน 5G ทั้งค่าประมูลและการลงทุนโครงข่าย ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ทำให้ TRUE มีโอกาสขายสินทรัพย์เข้ากอง DIF เพิ่มเติม ซึ่งน่าจะช่วยยืดอายุการให้บริการได้

ด้วยการให้บริการของผู้เช่าหลักที่มีความมั่นคง และมีโอกาสขายสินทรัพย์เข้ากองเพิ่มเติมในอนาคต อีกทั้งกอง DIF เป็นกอง Freehold + Leasehold ที่มี Option ของซื้อสินทรัพย์ในอนาคตด้วยราคาที่สมเหตุสมผล นอกจากนี้ DIF ยังเป็นกอง IF ที่ได้ถูกคัดเลือกให้เข้า MSCI ในปีที่ผ่านมา ทำให้ DIF จัดเป็นกองทุนที่มีสภาพคล่องการซื้อขายสูงสุด ขณะที่คาดผลตอบแทนเงินปันผลปี 2564 อยู่ที่ 1.05 บาท คิดเป็น Dividend Yield  6.5% โดย XD เงินปันผลไตรมาส 1/2563 วันที่ 26 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ที่ 0.261 บาทต่อหุ้น โดยประเมินมูลค่าหุ้นอิง Dividend Yield ที่ 5.75% จะอยู่ที่ 18.2 บาท upside 13%

ในส่วนของคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 18.20 บาท

ข้อมูลข้างต้นเป็นการเสนอให้เห็นว่ารายได้ของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานทั้งสองกองทุน JASIF และ DIF เด่นสุด ช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะธุรกิจยังคงดำเนินการได้จึงทำให้ทั้งสองกองยังคงสามารถจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุนอย่างสม่ำเสมอ  

ทั้งนี้หากพิจารณาจากผลตอบแทนเงินปันผลของปี 2562 พบว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท หรือ BTSGIF ให้ผลตอบแทนเงินปันผลสูงเป็นอันดับ 2 รองจาก กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF อย่างไรก็ตามอายุสัมปทานของ BTSGIF เหลือเพียง 9 ปี อีกทั้งรายได้ของกองทุนมาจากรายได้ค่าโดยสาร BTS ของ 2 เส้นทางหลัก ซึ่งได้รับผลโดยตรงจาก COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา จึงคาดว่าจะส่งผลให้ BTSGIF มีการลดทุนคืนผู้ถือหน่วยในช่วง 3 ไตรมาสนี้ แทนการจ่ายเงินปันผล

ขณะที่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ หรือ ABPIF เหลืออายุสัญญาเพียง 2 ปี จึงมีแนวโน้มทยอยคืนทุนทุกไตรมาส พร้อมกับจ่ายเงินปันผลในอัตราที่ลดลง เช่นเดียวกับ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRRGIF ซึ่งมีสิทธิรายได้สุทธิของโรงไฟฟ้าชีวมวล (กากอ้อย) ซึ่งมีนโยบายคืนทุนพร้อมจ่ายเงินปันผลทุกไตรมาส แม้อายุสัญญาจะเหลือถึง 13 ปี แต่ BRR ไม่มีนโยบายขายสิทธิรายได้เข้ากองทุนเพิ่มแล้ว Yield ที่สูง เกิดจากราคาของ BRRGIF ที่ลดลงตามการลดทุนมาโดยตลอด

ส่วนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ EGATIF มีผลตอบแทนเงินปันผลปี 2562 สูงเป็นอันดับ 5 ของ IFUND อย่างไรก็ตามรายได้หลักของ EGATIF มาจากรายได้ความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 ของ EGAT ซึ่งจะมีชั่วโมงการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนทุกปี  ทั้งนี้แม้ EGATIF จะเหลืออายุถึง 13 ปี แต่มีแนวโน้มลดทุนเพื่อคืนผู้ถือหน่วยในอนาคต และส่งผลให้เงินปันผลในอนาคตที่ได้รับมีโอกาสลดลงตามไปด้วย

อีกทั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ TFFIF มีอายุสิทธิรายได้ค่าผ่านทางมากสุดคือเกือบ 29 ปี แต่ผลตอบแทนเงินปันผลปี 2562 ต่ำสุดเพียง 3.78% เพราะมีจุดเด่น คือ Sponsor หลัก คือ ภาครัฐ ซึ่งมีโอกาสนำสิทธิรายได้โครงสร้างพื้นฐานอื่นขายเพิ่มเติมเข้ากอง  เป็นการเพิ่มอายุสิทธิรายได้ให้กอง ผลตอบแทนเงินปันผลที่ต่ำ เทียบกับอายุกองทุนที่มีโอกาสเพิ่มขึ้น บวกกับเป็นของภาครัฐ ทำให้กองทุนนี้เป็นที่นิยมและเหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงต่ำ อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการในปีนี้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยตรง เพราะมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ประชาชนที่ใช้ทางด่วนลดน้อยลง

สรุปได้ว่าหากดูภาพรวมของกองทุนรวมในล่าสุด พบว่ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานมีเสน่ห์สุดเมื่อเทียบกับกองทุนรวมอื่น ดังนั้นถือเป็นโอกาสทองของนักลงทุนระยะยาวเพื่อรอรับปันผลอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง

Back to top button