“สนธิรัตน์” ปรับแผนโซลาร์ประชาชน หั่นเป้าเหลือ 50 MW ตั้งทีมศึกษาโครงการต้นแบบใน 60 วัน

“สนธิรัตน์” ปรับแผนโซลาร์ประชาชน หั่นเป้าเหลือ 50 MW ชงเข้าครม.พรุ่งนี้ พร้อมตั้งทีมศึกษาโครงการต้นแบบใน 60 วัน


นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงได้ปรับแผนการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชน (โซลาร์ภาคประชาชน) โดยปรับลดเป้าหมายปริมาณการผลิตไฟฟ้าตามโครงการนี้เหลือ 50 เมกะวัตต์/ปี จากเดิมที่ 100 เมกะวัตต์/ปี หลังในปี 62 ซึ่งเป็นปีแรกที่เปิดโครงการมีประชาชนเข้าร่วมโครงการน้อยมากเพียง 1.8 เมกะวัตต์ (MW) เท่านั้น

ทั้งนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (30 มิ.ย.63) คาดว่าจะมีการเสนอแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) เข้าสู่การพิจารณา โดยตามแผนได้บรรจุให้จัดทำโครงการโซลาร์ภาคประชาชน จำนวน 50 เมกะวัตต์/ปี เป็นเวลา 5 ปี (ปี 63-67) ลดลงจากแผน PDP2018 เดิม ที่บรรจุให้ดำเนินการ 100 เมกะวัตต์/ปี เป็นเวลา 10 ปี

ส่วนสาเหตุที่ต้องปรับลดปริมาณการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชน เนื่องจากมีประชาชนเข้าร่วมโครงการน้อยมาก ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากราคารับซื้อของภาครัฐที่ระดับ 1.68 บาท/หน่วยไม่จูงใจมากนัก รวมถึงความยุ่งยากในการดำเนินการ ตลอดจนต้องมีเงินทุนสนับสนุน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ หากประชาชนหันมาติดโซลาร์รูปท็อปเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ในวันนี้มีการหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ถึงการบริหารจัดการโครงการโซล่าร์ภาคประชาชนรูปแบบใหม่ โดยมีตัวแทนจาก เครือข่ายประชาชนปฎิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เข้าร่วม โดยที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันให้จัดตั้ง คณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนในเร็วๆ นี้ เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการต้นแบบโซลาร์ภาคประชาชน จำนวน 50 เมกะวัตต์ ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ 29 มิ.ย.63 โดยคณะทำงานที่จะตั้งขึ้นจะเข้ามาพิจารณาปัญหา อุปสรรค การติดตั้งโซลาร์ภาคประชาชน รวมถึงราคารับซื้อไฟฟ้าด้วย ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นผู้พิจารณาจัดตั้งคณะทำงานชุดดังกล่าวต่อไป

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ตัวแทน คปพ. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้หารือเบื้องต้นว่าระบบการซื้อขายไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนควรเป็นระบบ Net Metering หรือ ระบบหักลบ กลบหน่วยอัตโนมัติจากไฟฟ้าที่ผลิตใช้เอง เช่น เมื่อหักลบหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตและใช้แล้ว จึงนำไฟฟ้าส่วนที่เหลือขายเข้าระบบไฟฟ้าได้แบบอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคในการซื้อขายไฟฟ้าของประชาชนในโครงการดังกล่าวได้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถใช้ระบบ Net Metering ได้เนื่องจากติดปัญหาการคำนวณภาษี ซึ่งต้องไปหารือกับกรมสรรพากร

นอกจากนี้คณะทำงานชุดที่จะตั้งขึ้นจะมีการพิจารณาด้านราคารับซื้อไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนที่ไม่ได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปด้วย โดยเห็นว่ารัฐไม่จำเป็นต้องให้เงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) แต่ราคาควรจูงใจ ซึ่งอาจเท่ากับหรือต่ำกว่าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขายส่งไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ในอัตราเกือบ 3 บาท/หน่วย นอกจากนี้จะพิจารณาว่าปริมาณรับซื้อไฟฟ้า 50 เมกะวัตต์ อาจจะเพิ่มขึ้นได้หากความต้องการในอนาคตสูงขึ้น เป็นต้น

 

 

Back to top button