รฟท.เล็งขึ้นค่าเช่าที่ดินกลางเมือง-เปิดประมูลรถไฟทางคู่ 2 เส้นทางใหม่ปลายปีนี้

รฟท.เล็งขึ้นค่าเช่าที่ดินกลางเมือง-เปิดประมูลรถไฟทางคู่ 2 เส้นทางใหม่ปลายปีนี้


นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คาดว่า ปลายปีนี้จะเปิดประมูลโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กิโลเมตร มูลค่าลงทุนราว 8.5 หมื่นล้านบาท และ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน6.8 หมื่นล้านบาท

โดยช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เตรียมนำกลับไปเสนอ ครม.ในเร็ว ๆ นี้เพื่อยืนยันการแบ่งดำเนินการทั้งงานโยธาและระบบเดินรถเป็น 3 สัญญา จากที่ก่อนหน้านี้ซุปเปอร์บอร์ดมีความเห็นให้แยกเป็นมากกว่า 3 สัญญา ขณะนี้เรื่องอยู่ที่กระทรวงคมนาคมแล้ว ขณะที่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม รฟท.อยู่ระหว่างร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูล (ทีโออาร์) โดยทั้งสองเส้นทางเป็นเส้นทางใหม่ และผ่านการจัดทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการเวนคืนที่ดินและประมูล ซึ่งจะดำเนินการคู่ขนานไป

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ เฟส 2 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ขั้นตอนชี้แจงต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ซึ่งสภาพัฒน์จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะลงทุนมากกว่าแสนล้านบาท ซึ่งก็ต้องพิจารณาเส้นทางที่ทำประโยชน์สูงสุดก่อน โดยความเห็นส่วนตัวมองว่าเส้นที่ทางยังไม่เชื่อมต่อกับเส้นทางที่ลงทุนไปแล้วในเฟสแรก น่าจะลงทุนได้ก่อน อาทิ ช่วงเด่นชัย-ปากน้ำโพ

ขณะที่โครงการสถานีกลางบางซื่อ แปลง A ที่เคยเปิดประมูลแล้วไม่มีรายใดเข้าประมูลนั้น นายนิรุฒ กล่าวว่า รฟท.จะนำทีโออาร์โครงการนี้มาทบทวนใหม่ แต่ไม่เร่งออกประมูลในช่วงนี้ เพราะมองว่าบรรยากาศการลงทุนยังไม่เอื้อ เนื่องจากยังมีผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คงจะยังไม่มีเอกชนรายใดสนใจลงทุนในช่วงเวลานี้

“สถานีกลางบางซื่อแปลง A มองว่าไม่ใช่เวลาเปิดประมูล และจะเอาทีโออาร์มาทบทวน เพื่อให้ออกมาเป็นประโยชน์สูงสุด ต้องขอศึกษาก่อน ส่วนรูปแบบก็ยังให้เอกชนลงทุน รถไฟไม่ทำเอง…ตอนนี้ยังไม่เหมาะ แต่ถ้าเห็นมีการลงทุน โครงการ The One Bangkok โครงการพัฒนาที่ดินมักกะสัน ก็มองว่าความต้องการมากขึ้น”นายนิรุฒ กล่าว

ส่วนโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต นายนิรุฒ กล่าวว่า โครงการนี้ต้องล่าช้าออกไป และไม่สามารถเปิดให้บริการในต้นปี 64 ตามแผน โดยทางผู้รับเหมาขอขยายเวลากว่า 500 วัน ดังนั้น หากขยายตามเวลาดังกล่าวก็จะเลื่อนไปเปิดในเดือน พ.ค.64 อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นให้ขยายออกไป 87 วันก่อน ส่วนที่จะขยายเวลามากกว่านี้หรือไม่คงต้องรอผลการศึกษาของคณะทำงานที่กระทรวงคมนาคมว่าสมควรจะขยายเวลา 500 กว่าวันตามข้อเสนอหรือไม่

ขณะเดียวกัน รฟท.ได้ตั้งคณะทำงานกันภายในองค์กรว่าจะใช้รูปแบบใดเดินรถ ทั้งการเดินรถเอง หรือทำในรูปแบบเอกชนร่วมทุน (PPP) และจะดำเนินการเดินหน้าส่วนต่อขยายสายสีแดง ทั้ง 3 ช่วงหรือไม่ คาดว่าจะใช้เวลาสรุปผลใน 2-3 เดือน ทั้งนี้ ส่วนต่อขยายสายสีแดง ได้แก่ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา อย่างไรก็ดี หากงานก่อสร้างเสร็จก่อน รฟท.จะเดินรถไปเองก่อน ไม่จำเป็นต้องรอรูปแบบ PPP

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา ที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลจีน ได้นำร่างสัญญา 2.3 ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาแล้ว คาดว่าอีก 2 เดือนน่าจะลงนามสัญญาได้ ส่วนโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินได้บริหารจัดการส่งมอบพื้นที่ได้ตามแผน

โดย รฟท.มีทรัพย์สินจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ดินที่มีทั้งหมด (รวมเขตทาง) ราว 2.4 แสนไร่ โดยในจำนวนนี้มีการใช้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ราว 2 หมื่นไร่ ที่มีรายได้ค่าเช่าเพียง 2 พันกว่าล้านบาท ซึ่งในสายตาของตนเห็นว่าน้อยมาก เพราะที่ดินบางส่วนอยู่ใจกลางเมือง จึงเห็นว่าควรจะปรับอัตราค่าเช่าให้สมเหตุสมผลมากขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าการบริหารจัดการไม่ง่าย เพราะมีบางส่วนที่ชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ หรือคนเช่าเดิมไม่ยอมจ่ายเงินและซื้อเวลาในศาล

ทั้งนี้ จะมีการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม ต้องมาดูในรายละเอียด ซึ่งจะต้องจัดระบบให้สอดคล้องกับบริบทในอนาคต อย่างเช่น การจัดเก็บค่าเช่า จะหารือกับธนาคารกรุงไทยเพื่อเชื่อมระบบจัดเก็บที่มีผู้เช่าเป็นหมื่นรายให้เกิดความสะดวกและไม่รั่วไหล รวมทั้งเตรียมเปิดให้บริหารพื้นที่สถานีตามหัวเมืองใหญ่ อย่างเช่น ขอนแก่น นครราชสีมา สถานีแม่น้ำ สถานีมักกะสัน เป็นต้น

สำหรับแผนฟื้นฟู รฟท.ก็ยังเหมือนเดิมที่จะมีการจัดตั้งบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัทเดินรถ บริษัทบริหารทรัพย์สิน ซึ่งหากจัดตั้งแล้วจะดึงคนนอกที่มีฝีมือเข้ามาช่วยบริหาร พร้อมกันนั้นก็จะมองหาพันธมิตรที่จะสามารถเข้ามาช่วยต่อยอดธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับไปรษณีย์ไทยในการขนส่งสินค้าทางรถไฟไปแล้ว

โดย รฟท.มียุทธศาสตร์ 3 ด้านที่ขับเคลื่อนต่อจากนี้เพื่อให้กลับมาแข็งแกร่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ 1.การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางราง 2.การเพิ่มรายได้และการลดค่าใช้จ่าย และ 3.ขับเคลื่อนและการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานเพื่อให้สอดคล้องตามวิสัยทัศน์ของ รฟท.ที่จะเป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570

Back to top button