“ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” ชี้พิษ “โควิด” ส่อฉุดกำไรแบงก์ ไตรมาส 2 วูบ 52.2% NPL พุ่งต่อเนื่อง

“ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” ชี้พิษ “โควิด” ส่อฉุดกำไรแบงก์ ไตรมาส 2 วูบ 52.2% NPL พุ่งต่อเนื่อง


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สภาวะแวดล้อมที่อ่อนแอต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยจากการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2563 มีผลกระทบมากขึ้นต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาสที่ 2/63 ขณะที่ภารกิจสำคัญเร่งด่วนของธนาคารในช่วงนี้ สลับกลับมาที่เรื่องการติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามแนวทาง/โครงการความช่วยเหลือของหน่วยงานทางการ รวมไปถึงมาตรการช่วยเหลือลูกค้าของแต่ละธนาคาร ทั้งเพื่อสนับสนุนสภาพคล่อง และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ทุกกลุ่ม

ทั้งนี้ สัญญาณอ่อนแอลงอย่างมากของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/63 ที่ผ่านมา มีผลกระทบต่อเนื่องต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยในไตรมาส 2/63 จะลดลง -52.2% ถึง -42.0% มาอยู่ที่ 2.68-3.25 หมื่นล้านบาท จากที่มีกำไรสุทธิ 5.33 หมื่นล้านบาทในไตรมาสที่ 1/63 โดยเป็นผลมาจากการลดลงของรายได้จากธุรกิจหลัก ท่ามกลางผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และการตั้งสำรองฯ เพื่อเตรียมการรองรับความไม่แน่นอนของประเด็นคุณภาพของสินเชื่อในช่วงหลายไตรมาสข้างหน้า ขณะที่แนวทางการตั้งสำรองฯ ของแต่ละธนาคารจะมีความแตกต่างกันตามลักษณะของพอร์ตสินเชื่อ

โดยคงต้องยอมรับว่าวัฏจักรเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในขณะนี้ มีผลกดดันต่อรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อ และรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการ รวมทั้งทำให้มีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ในเกณฑ์ที่สูงกว่าระดับปกติ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงเห็นต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 63

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 2/63 อาจเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 6.0%  เทียบกับที่ขยายตัว 4.1% ในไตรมาส 1/2563 นำโดยการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อธุรกิจ ทั้งธุรกิจรายใหญ่และ SMEs โดยสำหรับธุรกิจรายใหญ่นั้น มีสัญญาณการเบิกใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 1 ถึงต้นไตรมาส 2 เพื่อทดแทนการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs ทยอยเพิ่มขึ้น ตามการอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของโครงการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารออมสิน ประกอบกับธนาคารแต่ละแห่ง ก็ได้มีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเสริมสภาพคล่องแก่กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการของตนเองด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่าสินเชื่อที่เร่งตัวสูงขึ้นในช่วงระหว่างไตรมาสที่ 2/63 อาจไม่ได้ทำให้ผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นดังเช่นที่เคยเห็นในภาวะปกติ เนื่องจาก 2 เหตุผล ได้แก่ (1) ธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR/MRR/MOR เพิ่มเติมอีก 0.53-0.75% ในไตรมาสที่ 2/63 ต่อเนื่องจากที่ได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2562 และ (2) สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อ SMEs ที่ปล่อยใหม่ในไตรมาส 2/2563 น่าจะเป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของพอร์ตโดยรวมของธนาคารพาณิชย์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อ (Yields on Loans) ในไตรมาส 2/63 จะชะลอลงมาที่กรอบ 3.40-3.85% จาก 4.50% ในไตรมาส 1/63 ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (NIM) จะชะลอลงมาที่กรอบ 2.20-2.50% จาก 3.00% ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา

ทั้งนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการไตรมาส 2/63 คาดว่าจะลดลงประมาณ 35.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก เนื่องจากบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สะดุดลงในหลายภาคส่วน น่าจะมีผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมจากบัตรเครดิต ซึ่งลดลงตามปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร บริการบัตร ATM/บัตรเดบิต ค่านายหน้า โดยเฉพาะจากการขายผลิตภัณฑ์ประกัน ตลอดจนค่าบริการที่ปรึกษา และค่าธรรมเนียมจากการจัดการ/จำหน่ายหลักทรัพย์

อย่างไรก็ดี กำไรจากเงินลงทุนที่มีโอกาสฟื้นตัวขึ้น (ตามทิศทางตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรที่สามารถปรับตัวขึ้นมาได้บ้าง หลังจากที่ทรุดตัวลงอย่างหนักในไตรมาสแรก) น่าจะช่วยลดแรงกดดันต่อรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยในภาพรวมลงบางส่วน

ท่ามกลางสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้หลายกลุ่ม ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ของระบบธนาคารพาณิชย์ มีโอกาสขยับขึ้นมาที่ 3.30-3.40% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 2/63 จากระดับ 3.05% ในไตรมาส 1/63 โดยคงต้องติดตามสัญญาณด้อยคุณภาพของสินเชื่อในพอร์ตลูกค้า SMEs และลูกค้ารายย่อย อาทิ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันอย่างใกล้ชิด

แม้ในระยะสั้น ตัวเลข NPLs ที่มีการรายงานออกมาจะยังไม่ขยับขึ้นมาก แต่คาดว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (Credit Cost) จะขยับสูงขึ้นไปอยู่ที่กรอบประมาณ 1.65-1.90% ในไตรมาส 2/63 เทียบกับไตรมาสแรกซึ่งอยู่ที่ 1.46% เนื่องจากคาดว่าธนาคารพาณิชย์หลายแห่งจะทำการตั้งสำรองฯ ในระดับสูง ตามความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องมองไปข้างหน้ามากขึ้นตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS 9) แม้ว่าเกณฑ์การผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้ของธปท. จะช่วยบรรเทาภาระจากการให้ความช่วยเหลือลูกค้าก็ตาม

จากการที่ ธปท. ระบุว่าจะไม่มีการต่ออายุมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไป หลังครบกำหนดช่วง 6 เดือนในเดือนต.ค. 63 นั้น นับเป็นการส่งสัญญาณให้ทุกธนาคารต้องเตรียมตัวให้พร้อมใน 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1) การเร่งตั้งสำรองฯ ไว้ล่วงหน้าเพื่อรองรับความเสี่ยงจากปัญหาคุณภาพหนี้ และ 2) การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ ก่อนที่ลูกหนี้จะกลายเป็นหนี้ที่มีปัญหา โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มที่มีความเปราะบางทางการเงิน/มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ หรือเป็นกลุ่มที่เคยเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจที่ถูกกระทบอย่างหนักในปีนี้ และยังอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการฟื้นกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะกลายเป็นสมมติฐานสำคัญที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งใช้ในการวางแผนธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องในปีหน้า นอกจากนี้ ประสบการณ์หนึ่งที่ได้จากทุกวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา คือปัญหาคุณภาพหนี้ มักเป็นตัวแปรตามหลังสภาวะเศรษฐกิจ (Laggard)

“ดังนั้นแม้สัญญาณเศรษฐกิจอาจเริ่มดีขึ้นบ้างในปีหน้า แต่จะยังคงมีโอกาสเห็น NPLs ในระบบธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 1-2 ปีนับจากนี้ และทำให้ธนาคารแต่ละแห่ง ต้องเตรียมการตั้งสำรองฯ ในระดับสูงกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อแนวโน้มกำไรสุทธิในช่วงหลายไตรมาสข้างหน้า โดยประเมินว่า Credit Cost ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 bps. จะมีผลทำให้กำไรสุทธิลดลงประมาณ 3,300-4,000 ล้านบาท” บทวิเคราะห์ระบุ

สำหรับในระยะที่เหลือของปี 63 นั้น คาดว่าความเสี่ยงของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ลากยาว จะยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งทำให้โจทย์ในการประคองทิศทางกำไรของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 63 ยังคงมีความท้าทายไม่น้อยไปกว่าช่วงครึ่งปีแรก ประกอบกับยังมีประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเร่งปรับโครงสร้างให้กับลูกหนี้ และการวางแนวทางให้ความช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารแต่ละแห่ง ภายหลังจากที่มาตรการพัก-เลื่อนชำระหนี้สิ้นสุดลง

ทั้งนี้ ในปัจจุบันระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงมีฐานเงินกองทุนที่สูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนด โดยอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1 Ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น (BIS Ratio) ของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ อยู่ที่ 15.68% และ 18.69% ต่อสินทรัพย์เสี่ยง ณ พ.ค. 63 ตามลำดับ ซึ่งฐานเงินกองทุนที่เข้มแข็งและการเตรียมความพร้อมในการตั้งสำรองฯ ในระดับสูง สะท้อนว่าธนาคารพาณิชย์มีการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ และมีความสามารถในการดูแลให้ความช่วยเหลือลูกค้าตลอดระยะที่เหลือของปีได้

Back to top button