‘ไม่มีทางเลือก’ รัฐต้องช่วยอุ้มต่อ

การระบาดของไวรัสโคโรนาได้ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากขึ้น และดูเหมือนว่ารัฐบาลทั่วโลก “ไม่มีทางเลือก”นอกจากต้องเพิ่มการใช้จ่ายเพื่ออุดหนุนธุรกิจและครัวเรือนไปจนถึงปีหน้า


พลวัตปี 2020 : ฐปนี แก้วแดง (แทน)

การระบาดของไวรัสโคโรนาได้ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากขึ้น และดูเหมือนว่ารัฐบาลทั่วโลก “ไม่มีทางเลือก”นอกจากต้องเพิ่มการใช้จ่ายเพื่ออุดหนุนธุรกิจและครัวเรือนไปจนถึงปีหน้า

หลายรัฐบาลได้ประกาศอุดหนุนงบประมาณเป็นจำนวนมากเพราะการระบาดของไวรัสโคโรนา แต่บางประเทศเช่น สหรัฐฯ ได้เผยความ “อ่อนล้าทางการคลัง” แล้ว และกำลังพิจารณาลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลง

อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ของเอสแอนด์พี โกลบัล เรตติ้ง เตือนว่า ผู้กำหนดนโยบายคลังที่คิดจะลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรืออาจจะปล่อยให้มาตรการที่ได้ทำไว้ หมดอายุไป ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างเป็นอันตราย เนื่องจากดีมานด์ของเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังคงได้รับแรงกดดัน

เอสแอนด์พี โกลบัล เรตติ้ง ชี้ว่า แม้การผลักดันหรือต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะหมายถึง การผ่อนคลายมาตรการทางการคลังมากขึ้น แต่สถานการณ์ในขณะนี้ ไม่มีทางเลือกมากสำหรับรัฐบาลส่วนใหญ่

แม้การใช้จ่ายเงินเพิ่มจะทำให้งบดุลของรัฐบาลเลวร้ายลง แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลต้องดำเนินการที่กดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อควบคุมไวรัสโคโรนา

เอสแอนด์พี โกลบัล เรตติ้ง ได้ลดประมาณการเศรษฐกิจโลกเมื่อต้นเดือนนี้  โดยในขณะนี้คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั่วโลกจะหดตัวประมาณ 3.8% ในปีนี้ ซึ่งแย่กว่าที่คาดการณ์ก่อนหน้าไว้ที่ 2.4% นอกจากนี้ยังได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาโตเฉลี่ย 4% ในปีหน้า ถึงปี 2566 แต่ คาดว่าอัตราผลผลิตทางเศรษฐกิจของเกือบทุกประเทศจะยังคงต่ำกว่าระดับปี 2562 อีกเป็นเวลาหลายปี

ปิยุช กุปตา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคาร “ดีบีเอส” ก็ได้เตือนถึง “ความท้าทายอันยิ่งใหญ่” สำหรับเศรษฐกิจโลกว่า ผลพวงทางเศรษฐกิจของการระบาดของไวรัสโคโรนา มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และงบดุลธนาคารต่าง ๆ อาจได้รับความเสียหายมากขึ้น

ซีอีโอของดีบีเอส กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นของรัฐบาลในหลายประเทศกำลังช่วยให้ธุรกิจฝ่าฟันช่วงเวลาแห่งความลำบากในปัจจุบันได้ แต่เมื่อมาตรการเหล่านั้นยุติลง หลายบริษัทอาจจะไม่สามารถอยู่รอดได้ และหากบริษัทจำนวนมากไม่สามารถอยู่รอดได้ ก็จะมีคำถามว่าจะจัดการกับบริษัทซอมบี้เหล่านี้ได้อย่างไร จะอัดฉีดเงินของรัฐให้ต่อหรือไม่ หรือปล่อยให้เกิดการทำลายอย่างสร้างสรรค์ (Creative destruction) ตามแนวคิดของ Joseph Alois Schumpeter นักเศรษฐศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ชาวออสเตรีย ซึ่งเรื่องนี้จะมีความท้าทายเป็นพิเศษต่อเอสเอ็มอีทั่วโลกและคาดว่าจะเป็น “ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่มาก” ในปีหน้า

นอกจากนี้การเมืองและแนวคิดเรื่องประชาสังคม (Civil society) จะทำให้รัฐบาลอุดหนุนทางการเงินต่อธุรกิจเหล่านั้นเป็นเวลานานได้ลำบาก ซึ่งหมายถึงว่าเราจะเริ่มได้เห็นการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น และนั่นก็หมายถึงว่าเราจะเริ่มได้เห็นปัญหาลุกลามไปสู่ภาคการเงิน

สำหรับธนาคาร ความเสียหายจะมากกว่าเรื่องงบดุล แต่ยังโชคดีที่ธนาคารทั่วโลกได้เข้าสู่วิกฤติไวรัสโคโรนาด้วยรากฐานที่มั่นคงมากขึ้นและสามารถรับความเจ็บปวดได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับเมื่อตอนเกิดวิกฤติการเงินโลกเมื่อกว่า 10 ปีก่อน

ธนาคารดีบีเอสได้ตั้งสมมุติฐานที่ค่อนข้างรุนแรงเกี่ยวกับจำนวนของบริษัท เอสเอ็มอีที่ไม่น่าจะอยู่รอดได้ ด้วยการทดสอบความตึงเครียดของธนาคารเอง ซึ่งพบว่า อัตราส่วนหนี้เสีย อาจจะมากกว่าระดับที่เคยได้เห็นในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินโลก

ซีอีโอดีบีเอสกล่าวว่า เราน่าจะได้เห็นความเครียดมากขึ้นในระบบการเงินในช่วงปลายปีนี้และปีหน้าอย่างไม่ต้องสงสัย และนั่นเป็นเพราะการล่มสลายของวิกฤติมหภาคยังคงแทรกซึมผ่านระบบการเงินในขณะนี้เท่านั้น แต่มันจะมีมาอีก และเมื่อประกอบกับภาวะดอกเบี้ยต่ำ ธนาคารจะเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น และถึงแม้ว่าธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้เสียที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว ก็ยังมีแนวโน้มที่จะต้องลดเงินปันผลเช่นกัน

ยังมีมุมมองจากนักเศรษฐศาสตร์อีกส่วนหนึ่งว่า มาตรการบรรเทาทุกข์จะช่วยให้เราผ่านช่วงที่เลวร้ายสุดของวิกฤติได้ แต่มันไม่สามารถทำได้ตลอดไป หนี้ที่สะสมมากขึ้นอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นอีก

ผลพวงจากโควิด-19 ทำให้รัฐบาลทั่วโลกตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันหมด คือ ช่วยก็ตาย ไม่ช่วยก็ตาย ทางเลือกที่ดีสุดในยามนี้ คือต้องช่วยอุ้มกันต่อไปจนกว่าวิกฤติจะจบลง

Back to top button