“สรท.” คงเป้าส่งออกปี 63 ติดลบ 10% วอนรัฐเร่งออกมาตรการด้านการเงิน เยียวยาผู้ประกอบการ

“สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย” คงเป้าส่งออกปี 63 ติดลบ 10% วอนรัฐเร่งออกมาตรการด้านการเงิน เยียวยาผู้ประกอบการ


น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัว -10% (ณ สิงหาคม 63) บนสมมติฐานค่าเงิน 31.50 (+/- 0.50) บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ 1. การส่งออกในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการ work from home ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ สินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป และอาหารกระป๋องและแปรรูป 2. ความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเอกชนมีความคาดหวังว่าจะสามารถพัฒนาวัคซีนจะพร้อมใช้งานได้เร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจกลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1. ผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังมีความรุนแรง 2.สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น สหรัฐฯกับจีน และจีนกับสหราชอาณาจักร 3.ราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำกว่าปี 62 4.ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง แต่ยังต่ำกว่าความคาดหวังของผู้ประกอบการที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ 5.การขาดสภาพคล่องทางการเงินของผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ 6.ปัญหาด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ยังมีจำกัด

น.ส.กัณญภัค กล่าวว่า ถึงแม้ สรท.คาดการณ์ส่งออกปีนี้จะหดตัว -10% แต่ยังเป็นกังวลเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังหดตัวรุนแรงจนไม่เห็นทิศทางการฟื้นตัว ขณะที่ยอดการส่งออกยังหดตัวรุนแรงต่อเนื่อง

“ตัวเลขคาดการณ์ปีนี้ -10% แต่ยังกังวล โดยช่วงที่เหลือของปีนี้จะต้องมียอดส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 17,879 ล้านดอลลาร์” น.ส.กัณญภัค ระบุ

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.63) หดตัว -7.9%

น.ส.กัณญภัค ยังกล่าวถึงข้อเสนอแนะสำคัญของ สรท. ประกอบด้วย 1.ด้านการเงิน โดยขอให้เร่งรัดดำเนินมาตรการเยียวยาด้านการเงินสำหรับเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาเพิ่มการค้ำประกันให้กับการกู้เงินของภาคเอกชนจากธนาคารพาณิชย์ พร้อมกันนี้ ขอให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ เข้าใจความเดือดร้อนของภาคธุรกิจ และมุ่งดำเนินการให้สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง

2.ด้านการบริหารจัดการน้ำและยกระดับภาคเกษตร โดยให้ความสำคัญกับในระบบการบริหารจัดการน้ำและระบบชลประทานให้มากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนโครงการการเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด

3.ด้านกฎระเบียบโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ โดยควรเร่งแก้ไขกฎระเบียบซึ่งล้าสมัย ขณะเดียวกันก็ยังไม่ควรบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ จนกว่าผู้ประกอบการสามารถฟื้นตัวได้

 

Back to top button