ทางสองแพร่งหุ้นโรงไฟฟ้าชุมชน

จากตัวเลขการใช้ไฟฟ้าช่วง 6 เดือนแรกปี 2563 ปรับลดลง 3.9% ทำให้ประเมินกันว่าปี 2563 ตัวเลขการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับลดลง 2.3% เทียบกับปี 2562 ที่ผ่านมา บนสมมติฐานจากตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP) ตัวเลขติดลบ 5-6% แต่หากตัวเลขติดลบ 9-10% ตามที่ประเมินกันไว้ นั่นหมายถึงตัวเลขการใช้ไฟฟ้าปีนี้มีโอกาสลดลงมากกว่า 3% ส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองเกิดภาวะ “ไฟฟ้าล้นระบบ” ขึ้นทันที


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

จากตัวเลขการใช้ไฟฟ้าช่วง 6 เดือนแรกปี 2563 ปรับลดลง 3.9% ทำให้ประเมินกันว่าปี 2563 ตัวเลขการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับลดลง 2.3% เทียบกับปี 2562 ที่ผ่านมา บนสมมติฐานจากตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP) ตัวเลขติดลบ 5-6% แต่หากตัวเลขติดลบ 9-10% ตามที่ประเมินกันไว้ นั่นหมายถึงตัวเลขการใช้ไฟฟ้าปีนี้มีโอกาสลดลงมากกว่า 3% ส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองเกิดภาวะ “ไฟฟ้าล้นระบบ” ขึ้นทันที

ปัจจุบันประเทศไทย มีกำลังผลิตไฟฟ้า 50,300 เมกะวัตต์ แต่มียอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ปีนี้ อยู่เพียงประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ นั่นจึงส่งผลให้มีปริมาณไฟฟ้าที่เหลือประมาณ 20,000 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นประมาณ 40% ของความต้องการใช้โดยรวม

แนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่อาจเป็นไปได้ คือการดึงแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับมาปรับแก้ ก่อนนำกลับเข้าเสนอครม.ใหม่ หรืออีกแนวทางคือรอให้แผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ผ่านความเห็นชอบไปก่อน แล้วจึงค่อยมาแก้ไขรายละเอียดให้สะท้อนและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด

ตามปกติแผน PDP มีกำหนดต้องปรับปรุงทุก 3-5 ปี โดยปี 2564 จะครบกำหนดที่ต้องปรับแผน PDP ดังนั้นเมื่อ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ผ่านครม.ได้ ต้องปรับแผนเพื่อให้ปริมาณไฟฟ้าประเทศอยู่ระดับเหมาะสม โดยอาจปรับแผนใหม่เป็น PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 หรือปรับใหม่เป็นแผน PDP2020 ก็ย่อมทำได้

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะเลือกวิธีไหน..ระหว่างการใช้ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ไปก่อน พร้อมกับการแก้ไขเพิ่มเติ่ม เพื่อไม่ให้โครงการต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักหรือใช้โอกาสนี้นำ PDP2018 เพื่อปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าอย่างแท้จริง ก่อนนำเสนอครม.เพื่ออนุมัติใช้ต่อไป

จุดที่น่าสนใจของ PDP2018 ฉบับแก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 1 นั่นคือโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 700 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จะต้องมีการปรับลดหรือเลื่อนออกไปหรือไม่ เพราะหากดูจากตัวเลขการไฟฟ้าที่ผลิตเกินความต้องการดังกล่าว

ในทางทฤษฎี มีความเป็นไปได้อีกทางหนึ่งคือการเดินหน้าตามแผน PDP2018 ฉบับปรุงแก้ไขครั้งที่ 1 โดยนำไฟฟ้าส่วนเกินไปจำหน่ายให้กับประเทศเพื่อนบ้านแทน แต่นั่นหมายถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องแบกรับภาระการลงทุนโครงข่ายสายส่งจำนวนมหาศาลและสุ่มเสี่ยงต่อการ “ได้ไม่คุ้มเสีย” ดั้งนั้นในทางปฏิบัติจึงมีโอกาสเป็นได้น้อยมาก

ปัญหาจึงกลับมาอยู่ที่ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ โดยเฉพาะ “โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ที่หลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ต่างหมายมั่นปั้นมือว่านี่คือ “โอกาส” (Opportunity) ในการสะสมกำลังการผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างการเติบโตของผลกำไรในอนาคต

แต่ความไม่ชัดเจนจากนโยบายดังกล่าว จึงกลายเป็น “อุปสรรค” (Threats) ทันที นั่นหมายถึง “จุดแข็ง” (Strength) ที่หลายบริษัทพึงมีอยู่หรือกำลังจะเกิดขึ้น กลับกลายเป็น “จุดอ่อน” (Weakness) ไปในที่สุด..!!

แหละนี่คือ “ทางสองแพร่ง” ที่หุ้นโรงไฟฟ้าชุมชนและนักลงทุนต้องเผชิญ แต่ทว่าจุดจบจะเป็นทางไหนเดี๋ยวคงได้รู้กัน..!!??

 

Back to top button