“สภาพัฒน์” เปิดจีดีพีไทย ไตรมาส 2 ติดลบหนักสุด 12.2% ผลกระทบ “โควิด” ฉุดศก.โลกชะลอ

"สภาพัฒน์" เปิดจีดีพีไทย ไตรมาส 2 ติดลบหนักสุด 12.2% ผลกระทบ "โควิด" ฉุดเศรษฐกิจโลกชะลอ


นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในไตรมาส 2/63 หดตัวถึง -12.2% จากตลาดคาด -13% ถึง -17% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นผลพวงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการกีดกันทางการค้า ทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่องจากไตรมาส 1 จนกระทั่งเศรษฐกิจเกือบทุกประเทศปรับตัวลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และ ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยหดตัวถึง 6.9%

อย่างไรก็ดี สภาพัฒน์คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ ไตรมาส 3 และ 4 จะเริ่มฟื้นกลับมาดีขึ้นเมื่อเทียบรายไตรมาส แต่ยังมีโอกาสติดลบอยู่ ส่งผลให้สภาพัฒน์ปรับประมาณการ GDP ทั้งปี 63 ลงมาเหลือ -7.5% (กรอบ -7.8 ถึง -7.3%) จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือน พ.ค.ว่าจะหดตัวในระดับ -6 ถึง -5% เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากต่างชาติลดลงมาก, ภาวะความถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก, ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง

“จีดีพีไตรมาส 2 ที่ลดลงถึง -12.2% เนื่องจากเป็นช่วงของการล็อกดาวน์ มีการปิดประเทศ ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น แต่ขณะนี้กิจกรรมทุกอย่างเริ่มกลับมา จึงคาดว่าไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 เศรษฐกิจจะเริ่มกลับขึ้นมาได้ แต่คงจะต้องใช้เวลากว่าที่กลับมาเท่ากับในช่วงที่ก่อนเกิดโควิด เพราะตอนนี้นักท่องเที่ยวก็ยังไม่กลับมาเท่าที่ควร การส่งออกก็ยังไม่เข้ามาเติมเต็ม รวมทั้งต้องรอดูสถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนด้วย” นายทศพร ระบุ

ทั้งนี้ การปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้ลงนั้นอยู่ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจโลกหดตัว -4.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 43 ดอลลาร์/บาร์เรล ค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 31.30 บาท/ดอลลาร์ การส่งออกลดลง -10% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.7 ล้านคน รายได้การท่องเที่ยว 3.1 แสนล้านบาท อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณปี 63 ราว 91.8%

ส่วนปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจปีนี้ ประกอบด้วย 1.ความสำเร็จในการควบคุมและป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และการเดินทาง 2. การเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาครัฐ 3. การปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในช่วงครึ่งปีหลัง 4. การผลิตและการส่งออกสินค้าสำคัญที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้า และการย้ายฐานการผลิต

ขณะที่ข้อจำกัดของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คือ การลดลงของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และความล่าช้าในการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ, สถานการณ์ภัยแล้ง และการเพิ่มขึ้นของการว่างงาน และข้อจำกัดด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

ด้านปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย คือ ความไม่แน่นอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, ความผันผวนของเศรษฐกิจและระบบการเงินโลก ภายใต้เงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ทิศทางนโยบายการเงิน สภาพแวดล้อมทางการเงินการคลัง ตลอดจนความเสี่ยงต่อวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ

นายทศพร ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับการชุมนุมทางการเมืองนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจ หากความขัดแย้งขยายวงกว้างออกไปจะยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนรวม ถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน จึงต้องจับตาปัจจัยนี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้จะฟื้นตัวได้เร็วหรือช้า ยังต้องขึ้นกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในทั่วโลกว่าจะมีการผลิตวัคซีนออกมาใช้ได้เร็วหรือไม่ เพราะออกมาได้เร็วก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 64

สำหรับประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 63 ประกอบด้วย 1. การประสานนโยบายการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 2.การพิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับภาคธุรกิจและแรงงานในสาขาเศรษฐกิจที่ยังมีอุปสรรคในการฟื้นตัว 3. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชน 4. การดูแลภาคการเกษตรจากปัญหาภัยแล้ง และการลดลงของราคาสินค้าส่งออก 5. การขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐควบคู่กับมาตรการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาว 6. การส่งเสริมไทยเที่ยวไทยและการรณรงค์ใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ 7. การเตรียมรองรับความเสี่ยงสำคัญๆ เช่น การระบาดของโควิดรอบสอง, ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก 8. การรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ

Back to top button