พิษ “โควิด” ทำอัตราว่างงาน ไตรมาส 2 เพิ่มเท่าตัว สูงสุดนับแต่ปี 52-หนี้ครัวเรือนพุ่ง

"สภาพัฒน์" เผยพิษ "โควิด" ทำอัตราว่างงาน ไตรมาส 2 เพิ่มเท่าตัว สูงสุดนับแต่ปี 52-หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี


นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยถึงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/63 ว่า มีผู้ว่างงาน 7.5 แสนคน คิดเป็นอัตราว่างงาน 1.95% เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากช่วงปกติ และเป็นอัตราสูงสุดตั้งแต่ไตรมาส 2/ 52 สาเหตุส่วนใหญ่มาจากผลจากสถานที่ทำงานปิดกิจการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หรือหมดสัญญาจ้าง

ทั้งนี้ ส่งผลให้จำนวนผู้ว่างงานสะสมในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านกว่าคน ซึ่งในจำนวนนี้ แบ่งเป็น ผู้ว่างงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม 4 แสนคน ส่วนที่เหลืออีกราว 1.7 ล้านคน แม้จะว่างงานแต่ยังมีสถานะของการจ้างงานอยู่ เพียงแต่ไม่ได้รับเงินจากนายจ้างเนื่องจากธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดกิจการหรือปิดตัวชั่วคราว ซึ่งเมื่อสถานการณ์กลับมาคลี่คลายได้ปกติแล้ว ในกลุ่มนี้ก็จะมีสถานการณ์จ้างงานกลับเข้ามาตามเดิม

ขณะที่การจ้างงานปรับตัวลดลง โดยผู้มีงานทำมีจำนวน 37.1 ล้านคน ลดลง -1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการลดลงทั้งผู้มีงานทำในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร สำหรับสาขาที่มีการจ้างงานลดลงมาก ได้แก่ สาขาก่อสร้าง, สาขาการผลิต, สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ขณะที่สาขาขายส่ง/ขายปลีก ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากยังสามารถเปิดกิจการได้ในบางส่วน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตัวเลขการว่างงานในปีนี้คงจะไม่ได้สูงถึง 7-8 ล้านคนอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้แล้วบางส่วน การป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยก็ทำได้ดีกว่าหลายประเทศ แต่ยังเป็นห่วงแรงงานในกลุ่มอาชีพอิสระอีก 16 ล้านคน เนื่องจากกลุ่มนี้มีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วโอกาสเสี่ยงของผู้ว่างงานในอาชีพอิสระก็จะลดลง

นอกจากนี้ นายทศพร ยังกล่าวถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/63 ว่ามีมูลค่า 13.48 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวลงจากไตรมาส 4/62 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 5.1% โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 80.1% สูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2/59

ทั้งนี้ มองว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไตรมาส 2 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามระดับการหดตัวของเศรษฐกิจที่จะรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งต้องเฝ้าระวังและติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจ ปัญหาภัยแล้ง และความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด ทำให้ภาคครัวเรือนเผชิญกับปัญหาขาดแคลนสภาพคล่อง และความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางการเงินที่ต่อเนื่องมาจากโครงสร้างทางการเงินของครัวเรือนที่เปราะบาง

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตลาดแรงงานจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก โดยประเด็นที่ต้องติดตามคือ 1. แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปียังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน 2.ปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องและสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก 3.ผลของมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อการจ้างงาน ซึ่งต้องติดตามว่าผลของการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

Back to top button