สำนักข่าวรัชดา
ช่วง “เศรษฐกิจไทย” ต้องเผชิญวิกฤติ ภาคธุรกิจ บริการและการท่องเที่ยว ไร้วี่แววจะฟื้นตัวขึ้นมาได้ ความคาดหวังเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเรียกความเชื่อมั่นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต้องหยุดชะงักลงไป เมื่อ “ปรีดี ดาวฉาย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ยื่นใบลาออก ทั้งที่นั่งเก้าอี้รมว.คลังได้ไม่ถึงเดือน
จากวันนั้น..ถึงวันนี้ “ขุนคลังคนใหม่” ..ยังไร้วี่แวว..ยิ่งตอกย้ำดำดิ่งนโยบายเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น.!
ไม่เพียงแค่นั้น ปัญหา “ชักหน้าไม่ถึงหลัง..คลังถังแตก” ซ้ำเติมเข้ามาอีก จนรัฐบาลต้องไฟเขียวให้กระทรวงการคลังออกพันธบัตรกู้เงินเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2563 อีก 2.14 แสนล้านบาท จากเงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2563 จำนวน 4.69 แสนล้านบาท ที่เต็มเพดาน นั่นหมายถึงความเสี่ยงเพดานหนี้สาธารณะสู่ระดับ 60%
แม้ผู้ว่าแบงก์ชาติ “วิรไท สันติประภพ” จะออกระบุว่าไม่อยากให้ยึดติดเกณฑ์ที่ใช้ในภาวะเศรษฐกิจปกติ เช่น การก่อหนี้ต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี เหตุเพราะขณะนี้เศรษฐกิจหดตัวทั่วโลก จึงต้องทบทวนตามสถานการณ์ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ระดับ 60% จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลมากนัก
จุดที่น่าสนใจคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ถือว่ามีบทบาทสูงในการดูดซับเม็ดเงินจากระบบอย่างมีนัยสำคัญ ผ่านธุรกรรมการซื้อขายสินค้าและบริการบนโลกดิจิทัลออนไลน์เพิ่มขึ้น อาทิเช่น Grab Food, Lineman, Kerry ในรูปแพลตฟอร์ม FB, Line, Google และตลาดการค้าออนไลน์ e-Commerce อย่าง Lazada หรือ Alibaba ที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี
ที่สำคัญภาคธุรกิจต่าง ๆ เล็งเห็นและให้ความความสำคัญของเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการเงินและบริการการเงิน เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบไปคราวเดียวกันเช่นกัน
แต่ปัญหาของไทยอยู่ที่การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากกรณีดังกล่าว ด้วยความที่แพลตฟอร์มบริการบนโลกออนไลน์ (Over the Top : OTT) ยังมีความล้าหลัง ไม่สามารถจะรองรับการเติบโตของธุรกรรมออนไลน์เหล่านี้ได้
ทำให้เม็ดเงินจากระบบเศรษฐกิจไทยจึงถูกดูดซับออกสู่ต่างประเทศ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่ล้วนแล้วแต่มีเจ้าของเป็นต่างชาติ จนสูญเสียโอกาส ทั้งที่ประเทศไทยเริ่มเปิดให้บริการระบบ 5G เป็นลำดับต้น ๆ ของภูมิภาคนี้เลยก็ว่าได้..!!!
โจทย์ใหญ่อยู่ที่ความชัดเจนของหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ หนีไม่พ้นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่แม้ว่าจะเป็นผู้ทำคลอดคลื่นความถี่เพื่อให้บริการระบบ 5G ก็ตาม
แต่กระบวนการสรรหากสทช.ชุดใหม่ ถูกแช่แข็งมากว่า 2 ปี ทำให้เกิด “สุญญากาศ” ในการต่อยอดการสนับสนุนให้การให้บริการ OTT อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป
นั่นจึงทำให้ “เสียโอกาส” หยิบฉวยเม็ดเงินจากระบบเศรษฐกิจไปอย่างน่าเสียดาย..!!
…อิ อิ อิ…