HTC มองผลงานครึ่งหลังฟื้น รับ Demand ในปท. คาดรายได้ทั้งปี 6.1 พันลบ.

HTC มองผลงานครึ่งหลังฟื้น รับ Demand ในปท. คาดรายได้ทั้งปี 6.1 พันลบ.


พล.ต.พัชร รัตตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) หรือ HTC เปิดเผยว่า บริษัทคาดรายได้ปีนี้จะอยู่ที่ 6.1 พันล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 6.79 พันล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภาคใต้อย่างมีนัยสำคัญ

โดยจะเห็นได้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่เดือนก.พ.63 จนกระทั้งมีการล็อกดาวน์ในช่วงเดือน มี.ค.63 ทำให้ลูกค้าของบริษัทบางช่องทางหายไปทั้ง 100% เช่น ร้านอาหาร และโรงแรม นานถึง 2-3 เดือน แต่บริษัทก็ได้มีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยหันไปมุ่งเน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งสามารถประคองยอดขายในช่วงดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง

นอกจากนั้น บริษัทยังมีการดัดแปลงเส้นทางการขนส่งสินค้า และยังหันมามุ่งเน้นสินค้าที่ผู้บริโภคสามารถนำไปบริโภคที่บ้านได้ เช่น สินค้าที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ ทั้งขนาด 1.25 ลิตร, 2 ลิตร เป็นต้น เพื่อตอบโจทย์สำหรับคนที่อยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่

“ภาคใต้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น ภูเก็ต สมุย หาดใหญ่ หรือกระบี่ ซึ่งขณะนี้ก็ยังอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากยังไม่สามารถมองเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ และยังคาดการณ์สถานการณ์ไม่ได้ว่าจะพลิกฟื้นกลับมาได้มากน้อยเพียงใด คงต้องรอจนกว่าจะมีวัคซีน และคนไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึง ก็น่าจะส่งผลให้การบริโภคกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง”พล.ต.พัชร กล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังนี้ ก็น่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกที่มีรายได้ 3.36 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 312.54 ล้านบาท หากไม่มีเหตุการณ์ที่เลวร้ายเกิดขึ้นอีก เพราะความต้องการสินค้าภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ผ่านกลยุทธ์การตลาด, การกระจายสินค้า และความสัมพันธ์กับร้านค้า

ประกอบกับ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่องจนไปถึงต้นปี 64 ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ไปแล้ว 3 รายการในช่วงไตรมาส 2/63 ได้แก่ ออเทนติก ที ชาเขียว ไม่มีน้ำตาล, ออเทนติก ที ชาอู่หลง ที่ใบชาเด็ดจากภูเขา Wuyi และ ออเทนติก ที ชาเก็กฮวย จาก Jinban เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีน้ำตาล หรือน้ำตาลน้อย ซึ่งเป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับการปรับขึ้นภาษีความหวานของอุตสาหกรรมน้ำตาลในปัจจุบันและอนาคต

 

Back to top button