“ส.นักวิเคราะห์” วางเป้าสิ้นปี SET แตะ 1,300 จุด ลุ้น GDP ปี 64 พลิกบวก!

“ส.นักวิเคราะห์” วางเป้าสิ้นปี SET แตะ 1,300 จุด ลุ้น GDP ปี 64 พลิกบวก!


นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA)แถลงผลการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองในด้านการลงทุนและคาดการณ์ทิศทางดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index)  ในไตรมาส 4/63  โดยครั้งนี้มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 22 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์จำนวน 16 บริษัท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจำนวน 5 บริษัท และบริษัทโกลด์ ฟิวส์เจอร์ส 1 บริษัท ซึ่งได้ปรับสมมติฐานหลักเป็นปัจจุบันแล้ว ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้ สมมติฐานด้าน GDP ในปีนี้ มีค่าเฉลี่ยการขยายตัวที่ -7.81% ส่วนสมมติฐาน GDP ปี 64 นั้นผู้ตอบทุกรายมองว่าเป็นบวกเฉลี่ยอยู่ที่ 3.91%

สำหรับปัจจัยที่มีผลบวกต่อดัชนีราคาหุ้นไทยในครึ่งหลังของปี 2563 ได้แก่ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของประเทศสำคัญทั่วโลก ผู้ตอบแบบสำรวจ 68.18% เทคะแนนให้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลบวก รองลงมาผู้ตอบ 54.55% คาดว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา (FED)  ส่วนปัจจัยอื่นๆ ไม่มีปัจจัยใดที่มีผู้ตอบถึง 50% ที่ระบุว่าเป็นบวก

ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลในด้านลบต่อตลาดทุนไทยในไตรมาส 4/63  ได้แก่ ปัจจัยด้านการเมืองในประเทศ 100% รองลงมา คือปัจจัยด้านการเมืองในต่างประเทศ เป็นปัจจัยที่มีเสียงโหวต 70% ขึ้นไป รองลงมาสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจภายในประเทศ และ Fund Flow จากต่างประเทศสู่ตลาดทุนไทย 68.18% ตามลำดับ

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าทิศทางดอกเบี้ยในประเทศนั้นผู้โหวตส่วนใหญ่มองว่าไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนในไตรมาส 4 โดยมีผู้โหวตเพียง 40.91% ที่มองว่าเป็นปัจจัยบวก แต่ไม่มีผู้ตอบที่มองแย้งว่าจะเป็นผลลบ

ทางด้านราคาน้ำมัน ผู้ตอบแบบสอบถามได้ปรับใช้สมมติฐาน ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยของปี 2563 ที่ 40.42 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

นอกจากนี้สมาคมนักวิเคราะห์ฯ ได้สอบถามความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนเกี่ยวกับ ข้อเสนอแนะว่าภาครัฐควรเร่งนโยบายเรื่องใดที่มีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เสนอให้ภาครัฐใช้นโยบายการคลัง โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนให้มีกำลังซื้อ จำนวนร้อยละ 60 ของผู้ตอบ ได้แก่ ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ช่วยเหลือผู้ว่างงาน และกระตุ้นการบริโภคผ่านโครงการช้อปช่วยชาติ ฯลฯ

ทั้งนี้มีผู้ตอบร้อยละ 35 ที่เสนอให้เร่งโครงการลงทุนภาครัฐ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน นอกเหนือจากข้อเสนอดังกล่าว ด้านการช่วยเหลือภาคธุรกิจ มีผู้ตอบร้อยละ 25 ข้อเสนอได้แก่ มาตรการลดภาษีเร่งการลงทุนภาคเอกชนหรือการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ด้านการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. นักวิเคราะห์คาดการณ์คงที่ ในไตรมาส 4 ของปี 2563 ร้อยละ 81 ของผู้ตอบ และคาดว่าปรับลด 0.25%  ร้อยละ 19 ตามลำดับ และคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของตลาดเฉลี่ยที่ 57.36 บาท ส่วน EPS Growth ของงบปี 2563 คาดว่า EPS Growth เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ -37

สำหรับจุดสูงสุดของ SET Index ในช่วง ก.ค. ถึงสิ้นปี 2563 เฉลี่ยที่ระดับ 1,347 จุด ทั้งนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 70.59 ที่คาดว่าดัชนีจะทำจุดสูงสุด 1,301 – 1,400 จุด  และมีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 23.53 ที่คาดว่าจุดสูงสุดจะอยู่ในช่วง 1,201 – 1,300 ตามลำดับ

ทั้งนี้คาดการณ์จุดต่ำสุดของดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index) ระหว่างปีนับจากนี้มีค่าเฉลี่ยจุดต่ำสุด ที่ 1,198 จุด โดยนักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุนคาดเป้าหมายดัชนี ณ วันสิ้นปี 2563 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,300 จุด ซึ่งน้อยกว่าผลสำรวจของไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 1,383 จุด

ขณะที่ความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนเกี่ยวกับการจัดพอร์ตการลงทุน แนะนำ ให้มีเงินสดร้อยละ20 ของพอร์ต และมีกองทุนตราสารหนี้ร้อยละ 18 ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงนั้น แนะนำให้แบ่งเงินลงทุนไว้ในหุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย ร้อยละ 21  รองลงมา ลงทุนในหุ้นต่างประเทศหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ ร้อยละ 20  ตามมาด้วย การแบ่งเงินลงทุนไว้ในทองคำ ร้อยละ 10  และ กองทุนอสังหา/REIT ร้อยละ 10 ตามลำดับ

สำหรับหุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำ โดยมีจำนวนสำนักวิเคราะห์แนะนำตรงกันตั้งแต่ 4 สำนักขึ้นไป มีดังนี้  1.) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC  โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการใช้สมาร์ทโฟนมีสูงและต่อเนื่องใน New Normal 2.)  บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS โดยคาดว่าจำนวนรายได้จากผู้ป่วยชาวไทยจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นเนื่องจากปัจจัยฤดูกาล ประกอบกับการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19  ภายในประเทศไทยทำได้ดีจะเพิ่มความเชื่อมั่นในการเข้ารับบริการรักษาในพยาบาลภายเอกชนในประเทศเพิ่มขึ้น หากมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันที่ได้ผลดีและมีการกระจายออกสู่ในวงกว้างได้ครอบคลุม คนไข้ชาวต่างชาติจะเริ่มเดินทางกลับเข้ามารับการรักษาตัวในประเทศไทยได้

รวมทั้ง 3.) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL โดยคาดว่าจะกลับไปเติบโตได้หลังโควิด รวมทั้งการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้ง ลาว และ กัมพูชา และ4.) บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA โดยมองว่าปัจจัยหนุน ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศจีน 2.การกลับมาผลิตโรงงานในประเทศจีนของ HANA หลังรัฐบาลจีนผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์  3.ค่าเงินบาทเริ่มกลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า จะส่งผลดียอดคำสั่งซื้อของลูกค้า

ส่วนหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรมและสายการบิน

Back to top button