พาราสาวะถี

กระแสม็อบคนหนุ่มสาวแผ่วจริงหรือไม่ อ่านได้จากการเรียกพรรคร่วมรัฐบาลถกก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ พร้อมกับคุณแหล่งข่าวที่รายงานว่า ท่านผู้นำสั่งให้พรรคร่วมรัฐบาลยกมือโหวตผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 ตั้งส.ส.ร.ของพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล โดยห้ามแตะหมวด 1 และหมวด 2 พอเป็นเช่นนี้คนก็ตีความไปถึงว่านี่คือการส่งสัญญาณไปยังส.ว.ลากตั้งที่ตัวเองเลือกมากับมือด้วย


อรชุน

กระแสม็อบคนหนุ่มสาวแผ่วจริงหรือไม่ อ่านได้จากการเรียกพรรคร่วมรัฐบาลถกก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ พร้อมกับคุณแหล่งข่าวที่รายงานว่า ท่านผู้นำสั่งให้พรรคร่วมรัฐบาลยกมือโหวตผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 ตั้งส.ส.ร.ของพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล โดยห้ามแตะหมวด 1 และหมวด 2 พอเป็นเช่นนี้คนก็ตีความไปถึงว่านี่คือการส่งสัญญาณไปยังส.ว.ลากตั้งที่ตัวเองเลือกมากับมือด้วย

แต่จุดใหญ่ใจความมันอยู่ที่ว่าท่าทีเช่นนี้ของท่านผู้นำ ย่อมอาจขาดว่าหากไม่ชัดเจนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม็อบแบบเบิ้ม ๆ ที่นัดหมายกันวันที่ 14 ตุลาคมนี้ จะมีคนหนุ่มสาวและประชาชนเข้าร่วมมากกว่า 19 กันยายนที่ผ่านมาแน่นอน ยิ่งมีข่าวแว่วมาว่าม็อบจะปักหลักกันยาว 7 วัน 7 คืน จึงยิ่งต้องเร่งถอนฟืนออกจากกองไฟ ในขณะเดียวกันก็ให้ฝ่ายความมั่นคงเร่งดำเนินการในเรื่องของคดีความแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวคู่ขนานกันไปด้วย

กรณีหลังคงไม่มีปัญหาอะไร เพราะการเคลื่อนไหวของขบวนการคนหนุ่มสาวนั้น ได้เห็นกันอยู่แล้วว่าอาจจะมีแกนหลัก แต่ที่กระจายตัวกันไปทั่วประเทศทั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษา เห็นการปราศรัยและท่วงทำนองในการขับเคลื่อนแล้ว คนเหล่านั้นสามารถทดแทนกันได้ทันทีทันใด เหมือนอย่างที่แกนนำบางรายประกาศลั่น 1 แกนนำหายจะเกิด 10 แกนนำทดแทนทันทีทันใด นี่คือการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะต่อสู้กับฝ่ายกุมอำนาจในทุกรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม สัญญาณจากท่านผู้นำที่อ้างเป็นรายงานข่าวนั้น ดูเหมือนว่าเป็นการส่งบทให้ส.ว.เล่นกันต่อและตีบทแตกกระจุย เมื่อ เสรี สุวรรณภานนท์ ประกาศลั่นการที่ส.ว.จะตัดสินใจอะไร ไม่ใช่แค่ยึดนายกฯ คนเดียวแต่ต้องฟังทุกฝ่าย ทั้งส.ส.รัฐบาล ฝ่ายค้าน ไอลอว์ โดยส.ว.15 คนที่เป็นกรรมาธิการศึกษาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นตัวแทนส.ว.ในการตัดสินใจ ก็ว่ากันไปตามความรู้สึกของตัวเอง แต่จะบังคับให้ประชาชนคล้อยตามด้วยไม่ได้

ไม่ต่างกันกับ สมชาย แสวงการ ที่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ แต่ก็มีปมที่ทำให้ถูกดักคอได้ต่อ เพราะการที่อ้างว่าแม้ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นของรัฐสภา ในประเด็นการแก้ไขมาตรา 256 ก็ใช่ว่าจะตั้งส.ส.ร.ได้ทันที เรื่องนี้ต้องไปถามประชาชนผ่านประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่ ก็รู้อย่างนี้แล้วทำไมไม่ลงมติรับหรือไม่รับไปเสียเลย จะตั้งคณะกรรมาธิการยื้อเวลา ให้ถูกด่าเปลืองตัวกันทำไม ส่วนที่คนในซีกรัฐบาลอ้างว่ามีสัญญาณดีมาจากส.ว.นั้น นาทีนี้มีคนไม่เชื่อมากกว่าเชื่อ

ขนาดการประชุมรัฐสภาที่คนอย่าง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนกระทั่ง ชินวรณ์ บุญยเกียรติ ลุกขึ้นแสดงจุดยืนของพรรคในที่ประชุมว่าไม่เห็นด้วย สุดท้ายก็ยังส่งคนไปร่วมในคณะกรรมาธิการ ที่สุดแสนจะรันทดคือ ชวน หลีกภัย ยังประกาศว่าผมก็ถูกหลอกเหมือนกัน เช่นนี้แล้วจะให้คนเชื่อถือกันได้อย่างไร กลเกมของขบวนการสืบทอดอำนาจสามารถจะพลิกพลิ้วได้อยู่ตลอดเวลา

เก่าไปใหม่มาถือเป็นวัฏจักรปกติของข้าราชการ ส่วนคำพูดหรือวาทกรรมที่ใครเคยพูดไว้ ก็อย่าได้ไปเชื่อถืออะไรมาก ไม่ต่างจากนักการเมือง เหมือนที่มีคนออกมาทวงความรับผิดชอบจาก “บิ๊กแดง” พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก ที่เคยประกาศไว้หลังเหตุกราดยิงที่โคราชขอเวลา 100 วันจะปฏิรูปกองทัพในหลายด้าน สุดท้ายผ่านไปจนเกษียณไม่เห็นมีอะไรเป็นไปตามที่ลั่นวาจาไว้ อย่าได้ไปกล่าวหาว่าโกหกประชาชน เพราะเหตุผลเขาพร้อมอธิบายเปลี่ยนในกองทัพคนทั่วไปไม่ต้องรับรู้

ขอเพียงแค่ผู้ใต้บังคับบัญชาและคนที่จะมารับตำแหน่งต่อ เข้าใจและรู้แล้วว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงนั่นก็คือการปฏิรูปแล้ว ประชาชนอย่าได้ไปสะเออะทวงถามหรือแนะนำใด ๆ ไม่ต่างกันหนึ่งวันก่อนจะรับตำแหน่ง พลอากาศเอกแอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ย้ำหนักแน่น ทหารไม่ยุ่งการเมือง” อยู่แล้ว ก็อาจเข้าใจได้ว่ามีแต่เฉพาะทหารลูกทัพฟ้าเท่านั้นกระมังที่ไม่ยุ่ง เพราะการเมืองที่ยุ่งอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากทหารที่เข้ามายุ่งกับการเมืองนี่แหละ

ทั้งนี้ สิ่งที่ผบ.ทอ.พูดคือช่วงก่อนที่จะดำรงตำแหน่งเต็มตัว หลัง 1 ตุลาคมมาแล้ว คนกลับไปถามใหม่อาจจะเปลี่ยนไปจากเดิมก็ได้ เพราะด้วยสถานะที่มีอำนาจเต็มและยังจะต้องไปทำหน้าที่ส.ว.โดยตำแหน่งด้วย ซึ่งจะต้องไปเผชิญกับการเมืองในสภาแบบเต็มตัว คงจะได้สัมผัสบรรยากาศและรับรู้ได้ว่าควรจะยุ่งหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ก่อนจะไปถึงตรงนั้น คงต้องปัดกวาดปัญหาภายในกองทัพตัวเองเสียก่อน เนื่องจากแรงกระเพื่อมการต่อต้านภายในก่อนการเข้าสู่ตำแหน่งมีอยู่สูงเหมือนกัน

เดือนตุลาคมในมุมของนักกิจกรรมการเมืองถือเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องประชาธิปไตยและการถูกกระทำจากฝ่ายเผด็จการทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 เหล่านี้คือบาดแผลของการต่อต้านอำนาจจากปลายกระบอกปืน แม้จุดจบของสองเหตุการณ์อาจแตกต่างกัน แต่ที่ไม่เคยเปลี่ยนไปไหนคือบาดแผลของคำว่าประชาธิปไตย ที่ไม่ว่าจะผ่านการตายมากี่ศพ บาดเจ็บ สูญหายกันไปมากเท่าไหร่ สุดท้ายก็ไม่เคยก้าวไปมีประชาธิปไตยเต็มใบเลยซักครั้ง ยิ่งปัจจุบันเหลือเพียงแค่เสี้ยวใบเท่านั้น

ไม่มีพลิกโผเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของเพื่อไทย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หวนกลับมานั่งหัวหน้าพรรคอีกรอบ แต่เปลี่ยนตัวเลขาธิการเป็น ประเสริฐ จันทรรวงทอง ชัดเจนว่าเพื่อลดปัญหาการเหยียบตาปลากันของกลุ่มส.ส.อีสานที่มีกันหลายก๊วน เพราะแม่บ้านคนใหม่ถือว่าไม่ได้อยู่สายใดเป็นพิเศษ จึงถือเป็นคนกลางที่สามารถคุยและเคลียร์ได้กับทุกฝ่าย เห็นรายชื่อกันแล้ว ก็ชัดเจนว่าเป็นการขยับเพื่อรับความเปลี่ยนแปลง แต่อาจจะดูมีคนในเครือข่ายใกล้ชิดตระกูลชินวัตรมากกว่าเดิม ก็เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับสมาชิกทั้งหลาย ต้องติดตามแต่งตัวใหม่เปลี่ยนโลโก้พรรคแล้วจะไฉไลหรือไม่

Back to top button