ดีเดย์ 28 ต.ค.! “นายกฯ” นั่งหัวโต๊ะ เซ็นสัญญา 2.3 ไฮสปีดไทย-จีน 5.06 หมื่นลบ.

ดีเดย์ 28 ต.ค.! “นายกฯ” นั่งหัวโต๊ะ เซ็นสัญญา 2.3 ไฮสปีดไทย-จีน 5.06 หมื่นลบ.


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รมว.คมนาคม) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ตอบรับเป็นประธานในการลงนามสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3)  โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร  หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร  นครราชสีมา) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในวันที่ 28 ต.ค. 63

สำหรับ สัญญา 2.3 รถไฟไทย-จีนนั้น เป็นสัญญาการจ้างรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นตัวแทนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีประสบการณ์ตรงด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่ได้รับการรับรองคุณภาพและประสิทธิภาพจาก National Development and Reform Commission แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD. และ CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) มาเป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง ติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบรถไฟความเร็วสูง จัดหาขบวนรถไฟ และฝึกอบรมบุคลากร ชื่อสัญญาภาษาอังกฤษว่า The Trackwork, Electrical and Mechanical (E&M) System, EMU, and Training Contract

โดยจะมีงาน 3 ช่วง คือ 1. ออกแบบระบบ และออกแบบระบบต่างๆที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนออกแบบขบวนรถไฟความเร็วสูง 2.งานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุง และการถ่ายทอดเทคโนโลยี 3.งานก่อสร้าง ติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบ ระยะเวลา 64 เดือน

ทั้งนี้ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ยังมีโจทย์ที่ต้องดำเนินการ 2 เรื่องคือ การปรับแบบสถานีอยุธยาเพื่อไม่ให้บดบังโบราณสถาน ล่าสุดทราบว่ากรมการขนส่งทางราง (ขร.) โดยนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ได้หารือกับอธิบดีกรมศิลปากรถึงแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกันเรียบร้อยแล้ว และเร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา  (ช่วงชุมทางบ้านภาชี-นครราชสีมา) เสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ซึ่งจะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า

และมอบหมายให้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เร่งรัดการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางโดยให้เร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เนื่องจากเป็นสถาบันสำคัญที่เป็นศูนย์ด้านบุคลากรและการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านระบบราง โดยให้ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เพื่อเปิดรับนักศึกษาสายอาชีวศึกษา เข้ามายังสถาบันต่อไป

Back to top button