รวมงบฯ Q3 กลุ่มแบงก์อ่วมหนัก! BAY เจ็บน้อยสุดกำไรหดแค่ 7%

รวมงบฯ Q3 กลุ่มแบงก์อ่วมหนัก! BAY เจ็บน้อยสุดกำไรหดแค่ 6.85%


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวบรวมผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ ที่ได้มีการประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3/2563 ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วประกอบด้วย KBANK,SCB ,BBL ,TMB,TISCO ,KKP ,CIMBT และ BAY

โดย บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุในบทวิเคราะห์ (21 ต.ค.2563) ว่า BBL กำไรไตรมาส 3/2563  ต่ำคาดเป็น 4 พันล้านบาท ลดลง 57% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน เพราะค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูง แนะนำ ถือ SCB กำไร ไตรมาส 3/2563   ต่ำคาดเป็น 4.6 พันล้านบาท ลดลง 69% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน เพราะตั้งสำรอง ECL สูง แนะนำ ถือ TMB กำไรไตรมาส 3/2563 ตามคาดเป็น 1.6 พันล้านบาท ลดลง 23% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ถือว่าต่ำกว่าตลาดคาดเพราะสำรองหนี้สูง แนะนำ ซื้ออ่อนตัว ล่าสุด KBANK กำไรไตรมาส 3/2563 ดีกว่าคาดเป็น 6.7 พันล้านบาท -33% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน เพราะการดำเนินงานและสำรองฯต่ำกว่าคาด อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นราคาหุ้นได้ แนะนำ ซื้อ

ด้าน KKP กำไรไตรมาส 3/2563 ดีกว่าคาดถึง 26% เป็น 1.3 พันล้านบาท (ลดลง 16% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน+แต่เพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาสก่อน) รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 9.4% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน เพราะสินเชื่อขยายตัว เพิ่มขึ้น3.6% จากไตรมาสก่อน, เพิ่มขึ้น 10.1% นับตั้งแต่ต้นปี รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลง 4.5% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 15.8% จากไตรมาสก่อนจากกำไรขาย foreclosed assets เพิ่ม ส่วน NPL ratio ลดลงสู่ 3.2% ของสินเชื่อรวม และ Coverage ratio สูงขึ้นเป็น 152.6% เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงมาก 18.2% Tier 1 ratio เท่ากับ 13.7% สูงกว่ากำหนดที่ 11.0% ให้ราคาพื้นฐาน 50 บาท

ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปี 2563 มีกำไรสุทธิ 6.68 พันล้านบาท ปรับตัวลดลง 32.89% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 9.95 พันล้านบาท

โดยกำไรในงวดไตรมาส 3/63 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง ทั้งรายได้ค่าทำเนียมและบริการ รายได้สุทธิจากการรับประกันภัย รวมถึงรายได้อื่น

ขณะที่ผลการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับงวด 9 เดือน ปี 2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจานวน 16,229 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 13,695 ล้านบาท หรือ 45.77% ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ธนาคารและบริษัทย่อยใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 17,692 ล้านบาท หรือ 70.24%

อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบกับไตรมาส 2/63 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 6,679 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,504 ล้านบาท หรือ 207.01% เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น จำนวน 173 ล้านบาท หรือ 0.64% ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้สินเชื่อและค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจาก เงินรับฝาก ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.17%

 

ด้าน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3/63 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย.2563 มีกำไรสุทธิ 4.64 พันล้านบาท ปรับตัวลดลง 68.64% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1.48 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานประจำไตรมาสดังกล่าวมีกำไรลดลง เป็นผลจากการตั้งเงินสำรองปกติที่สูงขึ้นในไตรมาสนี้ และการเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายการกำไรพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต หากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว กำไรสุทธิลดลง 56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  สำหรับเก้าเดือนแรกของปี 2563 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 22,252 ล้านบาท ลดลง 36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยในไตรมาส 3 ของปี 2563 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 23,724 ล้านบาท ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยหลังจากที่ธนาคารได้ขายหุ้นของบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปีที่ผ่านมาและการหดตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ ซึ่งเป็นผลส่วนใหญ่จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมขยายตัว 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 3% จากสิ้นปี 2562

ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 10,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่รวมกำไรพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปีก่อน กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายหลังการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ทำให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยประเภทเกิดประจำ (recurring) ในไตรมาส 3 ของปี 2563  เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นโดยเพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 15,747 ล้านบาท ลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการที่ธนาคารสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจที่ยากลำบาก อย่างไรก็ตามรายได้รวมของธนาคารยังคงได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารในไตรมาส 3 ของปี 2563 ปรับสูงขึ้นเป็น 46%

นอกจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพตามปกติ ธนาคารได้ทำการประเมินคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดอย่างรอบคอบ เพื่อทำการจัดชั้นลูกหนี้เชิงคุณภาพในกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง และมีแนวโน้มสูงที่จะฟื้นตัวไม่ได้ภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ 3.32% เพิ่มขึ้นจาก 3.05% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563

ทั้งนี้เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ในไตรมาส 3 ของปี 2563 ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 12,955 ล้านบาท โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 146% ในขณะที่เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.7%

 

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3/63 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย.2563 มีกำไรสุทธิ 4.01 พันล้านบาท ปรับตัวลดลง 57.43% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 9.44 พันล้านบาท

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานประจำไตรมาสดังกล่าวมีกำไรลดลง เนื่องจากธนาคารมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาส 3/2563 จำนวน 9,569 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 22.2% สาเหตุหลักจากการลดลงของรายได้จากเงินลงทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากการเริ่มใช้ TFRS 9 ประกอบกับปริมาณธุรกรรมลดลงจากการที่ผู้บริโภค เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ไปใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น

รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/2563 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการรวมค่าใช้จ่ายของธนาคารเพอร์มาตาและประมาณการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกบัการควบรวมสาขาในประเทศอินโดนีเซีย

อีกทั้งในปี 2563 ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของธนาคารและบริษทัย่อยครอบคลุมถึงเงินให้สินเชื่อรายการระหว่าง ธนาคารและตลาดเงิน ตราสารหนี้ที่มิได้วัดมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน รวมทั้งภาระผูกพันวงเงินสินเชื่อและสัญญาค้ำประกันทางการเงิน ทั้งนี้มีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยพิจารณาจากการคาดการณ์ปัจจัยทางเศรษฐกิจในอนาคตที่สะทอ้นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

 

ขณะที่ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3/63 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย.2563 มีกำไรสุทธิ 1.62 พันล้านบาท ปรับตัวลดลง 23.32% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2.11 พันล้านบาท

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวมีกำไรลดลง เนื่องจากธนาคารมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 2,984 ล้านบาท ในไตรมาส 3/63 ซึ่งลดลงร้อยละ 15.3 จากไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 33.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารคงความรอบคอบและตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นเพื่อรับมือกับภาพรวมที่อาจเกิดความไม่แน่นอนในอนาคต

รวมทั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss: ECL) เพื่อรับมือกับความผันผวนจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับมาตรการความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการโควิด-19 ตามแนวทางของ ธปท. ธนาคารยังคงความรอบคอบและตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหรือ ECL เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 6,863 ล้านบาท ในไตรมาส 3/2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.0 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 137.2 จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน

 

ด้าน บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3/63 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย.2563 มีกำไรสุทธิ 1.61 พันล้านบาท ปรับตัวลดลง 14.18% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1.88 พันล้านบาท

ทั้งนี้จากการผ่อนคลายมตราการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับการใช้มาตรการเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ นำไปสู่การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ส่งผลให้กำไรสุทธิในส่วนของบริษัทสำหรับงวดไตรมาส 3/63 มีจำนวน 1,611.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 จากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดีเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/62 มีกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 14.2 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

โดยในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สาเหตุหลักเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ลดลงตามการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีในภาวะดอกเบี้ยขาลง ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลักอ่อนตัวลง โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทั้งธุรกิจนายหน้าประกันภัย และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อ

ด้านผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) อยู่ที่ 604.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายหนี้สูญจำนวน 125.13 ล้านบาท ในไตรมาส 3/62 และคิดเป็นร้อยละ 1.07 ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย

 

อีกทั้ง ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)  หรือ KKP รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3/63 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย.2563 มีกำไรสุทธิ 1.35 พันล้านบาท ปรับตัวลดลง 16.33% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1.61 พันล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานลดลงเนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิไตรมาส 3/63 ลดลงอยู่ที่ 1,024.33 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,207.76 ล้านบาท นอกจากนี้ไตรมาส 3/63 มีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไตรมาส 3/63 อยู่ที่ 1,017.31 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนไม่มีบันทึก

 

ด้าน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3/63 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย.2563 มีกำไรสุทธิ 3.06 พันล้านบาท ปรับตัวลดลง 51.89% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 6.35 พันล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวปรับตัวลดลงเนื่องจาก บริษัทมีรายได้ค่าธรรมเนียม และบริการสุทธิลดลง 15.5% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนภาษีเงินได้ลดลง 49.2% อีกทั้งบริษัทมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น/หนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่าเพิ่มขึ้น 103.6%

 

ด้าน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2563 สิ้นสุด 30 ก.ย.2563 มีกำไรสุทธิ 81.66 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 77.33% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 360.19 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานไตรมาสดังกล่าว ปรับตัวลดลงเนื่องจาก บริษัทมีรายได้ดอกเบี้ย 3.52 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 4.20 พันล้านบาท ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการของไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 356.46 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีรายได้ 656.43 ล้านบาท นอกจากนี้ในไตรมาส 3/2563 ยังมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 1.25 พันล้านบาท

 

ด้าน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3/2563 สิ้นสุด 30 ก.ย.63 มีกำไรสุทธิ 6.11 พันล้านบาท ปรับตัวลดลง 6.85% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 6.56 พันล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานไตรมาสดังกล่าวลดลงเล็กน้อย  เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการตั้งสำรองเพื่อรองรับการด้อยลงของคุณภาพของสินเชื่อ สอดคล้องกับ การบริหารจัดการคุณภาพของสินทรัพย์ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2562 กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจำนวน 1,146 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.5 ส่วนใหญ่ เป็นผลจากการลดลงของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่นจากการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางการชะลอ ตัวอย่างรุนแรงของกิจกรรมทางธุรกิจ และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ

ทั้งนี้กำไรสุทธิลดลง 6.8 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2562 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ และการเพิ่มขึ้นของการตั้งสำรองเพื่อรองรับการด้อยลงของคุณภาพของ สินเชื่อ สอดคล้องกับการชะลอตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจ

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button