“คนละครึ่ง” ลงทะเบียนครบ 10 ล้านคนแล้ว ยอดใช้จ่ายสะสมทะลุ 1.25 พันลบ.

"กระทรวงการคลัง" เผยจำนวนคนลงทะเบียนโครงการ “คนละครึ่ง” ครบ 10 ล้านคนแล้ว ยอดใช้จ่ายสะสมทะลุ 1.25 พันลบ.


นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการคนละครึ่งที่ได้เปิดให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 มีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิโครงการเต็มจำนวน 10 ล้านคนแล้ว เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ซึ่งระบบจะทำการตรวจสอบและส่ง SMS แจ้งยืนยันสิทธิโดยเร็ว

ทั้งนี้ สำหรับยอดลงทะเบียนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบและยอดผู้ได้รับสิทธิที่ถูกตัดสิทธิจากการไม่ใช้จ่ายภายใน 14 วัน จะมีการรวบรวมมาเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใหม่ต่อไป

ด้าน น.ส.สุภัค ไชยวรรณ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 28 ต.ค. 2563 เวลา 12.00 น. มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 4.03 แสนร้านค้า แบ่งเป็น ร้านหาบเร่แผงลอย 5 หมื่นร้านค้า ร้านค้าที่มีหน้าร้าน 1.7 แสนร้านค้า ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 1.25 แสนร้านค้า ร้านธงฟ้า 4.23 ร้านค้า ร้านโอท็อป 1.05 หมื่นร้านค้า และร้านประเภทอื่น ๆ อีก 4.64 หมื่นร้านค้า

โดยในส่วนนี้มีร้านค้าที่ลงทะเบียนสำเร็จ ประมาณ 2 แสนร้านค้า และมีร้านค้าที่เริ่มมีการใช้จ่ายจริงตามโครงการ ทั้งสิ้น 1.32 แสนร้านค้า และมียอดการใช้จ่ายสะสม 1,255.44 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินที่ประชาชนจ่าย 626.97 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 598.47 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 229 บาท/ครั้ง และมีการใช้จ่ายครบทุกจังหวัด โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่

ขณะที่นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า กระทรวงการคลังกับธนาคารกรุงไทย ในฐานะผู้ดูแลระบบของโครงการคนละครึ่งได้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามตรวจสอบพฤติกรรมหรือธุรกรรมที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นในโครงการคนละครึ่ง โดยธนาคารกรุงไทยได้นำระบบการป้องกันการทุจริตในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐานสากลมาสนับสนุนโครงการเพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้

ทั้งนี้ ยอมรับว่าได้มีการดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมหรือธุรกรรมที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นตามการใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่งอยู่ แต่ยังไม่สามารถระบุในรายละเอียดได้ เพราะมีระบบและกระบวนการตรวจสอบซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งการตรวจสอบต้องเป็นไปโดยละเอียด ลงไปดูเป็นรายกรณี โดยยืนยันว่าหากพบการกระทำความผิดจริง พร้อมส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายทันที

“หากพบพฤติกรรม หรือธุรกรรมที่ผิดปกติ หรือมีการใช้จ่ายที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขโครงการ จะมีการระงับการใช้แอปพลิเคชัน ตลอดจนการจ่ายเงินทั้งฝั่งร้านค้าและประชาชนทันที และหากตรวจสอบพบว่าการใช้จ่ายผิดเงื่อนไขโครงการจริง จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป จึงขอให้ประชาชนและร้านค้า โปรดอย่าหลงเชื่อการเชิญชวนตามโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ ในการช่วยดำเนินการโดยไม่มีการใช้จ่ายซื้อสินค้าจริงอย่างเด็ดขาด เพราะอาจตกเป็นเหยื่อในการสนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิด ซึ่งมีโทษตามกฎหมาย” นายผยง ระบุ

Back to top button