บอร์ด PPP ไฟเขียวเอกชนร่วมลงทุน 2 บิ๊กโปรเจกท์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 1.9 หมื่นลบ.

บอร์ด PPP ไฟเขียวเอกชนร่วมลงทุน 2 บิ๊กโปรเจกท์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 1.9 หมื่นลบ.


นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 3/2563 ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธาน เห็นชอบในหลักการโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost จำนวน 2 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 18,961 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มูลค่ารวม 16,096 ล้านบาท ในรูปแบบการให้เอกชนบริหารจัดการโดยให้สัมปทาน โดย กนอ.จะมอบสิทธิแก่เอกชนเข้าใช้ทรัพย์สินเดิมของโครงการและดำเนินโครงการ ทั้งนี้เอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบการลงทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด โดยภาครัฐไม่มีภาระการลงทุนในโครงการ ตลอดระยะเวลาร่วมลงทุน 30 ปี เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการของผู้ประกอบการในพื้นที่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง

2.โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ของกรมการขนส่งทางบก มูลค่ารวม 2,865 ล้านบาท โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนค่าอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้า อุปกรณ์สำนักงานและส่วนประกอบ และงานระบบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ รวมถึง O&M ทั้งหมด ตลอดระยะเวลาโครงการ 15 ปี เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างประเทศบริเวณพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน รวมถึงเชื่อมต่อระบบการขนส่งจากทางถนนไปสู่ทางรถไฟ โดยให้ไปพิจารณาผลตอบแทนของรัฐอย่างรอบคอบในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน รวมถึงการขอรับสิทธิประโยชน์ BOI

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้วินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ตามมาตรา 20 (9) ตามที่มีหน่วยงานหารือในกรณีปัญหาข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT)

ผู้อำนวยการ สคร.กล่าวว่า บอร์ด PPP มีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและตรวจสอบข้อสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ระหว่าง AOT และ บมจ.การบินไทย (THAI) หลังจาก THAI พ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะดูสัญญาต่างๆ ระหว่าง AOT และ THAI ว่าปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน PPP หรือไม่ มีสัญญาใดบ้างที่เข้าหลักเกณฑ์ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย

ส่วนการทำแผนการฟื้นฟูนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายใน ธ.ค.นี้ เนื่องจากขณะนี้ THAI พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ และเป็นบริษัทเอกชน 100% จึงต้องมาดูในข้อสัญญาในการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐว่ามีสัญญาใดบ้างที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว

ด้านนายชาญวิทย์ นาคบุรี ที่ปรึกษาด้านการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ สคร. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ยังเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรอง และแนวทางปฏิบัติภายใต้ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ในเรื่องหลักเกณฑ์ในการพิจารณาใช้การคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูล รวมถึงแนวทางการพิจารณาความสำคัญของโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกฎหมายลำดับรองที่ใช้สำหรับการจัดทำและดำเนินโครงการครบถ้วน

ส่วนโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP นั้น นายชาญวิทย์ กล่าวว่า มีโครงการศูนย์การแพทย์ของกระทรวงสาธารสุข มูลค่า 8,200 ล้านบาท รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และโครงการโมโนเรล หาดใหญ่อยู่ระหว่างการดำเนินการ

Back to top button