เหล้าเก่าในขวดใหม่ ?

ปฏิกิริยาของสื่อทั่วโลกที่มีต่อชัยชนะของโจ ไบเดน ออกไปในทางยินดีและโล่งใจเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งเป็นการชี้ได้ว่า โลกเบื่อหน่ายกับความไม่แน่นอนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และนโยบาย “อเมริกามาก่อน” ของเขา สิ่งที่ทั่วโลกกำลังจับตาอย่างใกล้ชิดจากไบเดนต่อจากนี้ไปก็คือ “นโยบายต่างประเทศ” และนโยบายการค้า จะเหมือนหรือแตกต่างจากนโยบายของทรัมป์เพียงไร


กระแสโลก : ฐปนี แก้วแดง

ปฏิกิริยาของสื่อทั่วโลกที่มีต่อชัยชนะของโจ ไบเดน ออกไปในทางยินดีและโล่งใจเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งเป็นการชี้ได้ว่า โลกเบื่อหน่ายกับความไม่แน่นอนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และนโยบาย “อเมริกามาก่อน” ของเขา สิ่งที่ทั่วโลกกำลังจับตาอย่างใกล้ชิดจากไบเดนต่อจากนี้ไปก็คือ “นโยบายต่างประเทศ” และนโยบายการค้า จะเหมือนหรือแตกต่างจากนโยบายของทรัมป์เพียงไร

ไบเดนได้ส่งสัญญาณแล้วว่า เขาจะทำสามสิ่งเพื่อรีเซ็ตนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ใหม่ โดยอย่างแรกคือ จะเปลี่ยนโทนความสัมพันธ์ต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยในเวทีของพรรคเดโมแครตได้เรียกร้องให้ฝ่ายนโยบายต่างประเทศทางทหารรื้อฟื้นความเป็นผู้นำของอเมริกาใหม่ และเน้นย้ำให้ “การทูต” เป็นเครื่องมือที่จะใช้เป็นอันดับแรก

ดูเหมือนไบเดนจะเชื่ออย่างจริงใจใน “การทูต” และตั้งใจที่จะซ่อมแซมความสัมพันธ์กับพันธมิตรของสหรัฐฯ ที่ได้ห่างเหินกันไปในช่วง 4 ปีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ทำอะไรที่เหนือการคาดการณ์อยู่เสมอ ในขณะที่ทรัมป์มักชื่นชมผู้นำเผด็จการและเป็นมิตรกับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ไบเดนน่าจะแข็งกร้าวกับรัสเซียมากกว่า

การเปลี่ยนแปลงโทนเช่นนี้น่าจะหมายรวมไปถึง การเข้าร่วมในสนธิสัญญา และข้อตกลงระหว่างประเทศที่ทรัมป์ได้ฉีกทิ้งหรือถอนตัวไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความตกลงปารีส (Paris Climate Agreement) และการสนับสนุนเงินทุนใหม่แก่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คณะบริหารของไบเดนยังน่าจะต้องทำงานร่วมกับคณะบริหารที่จะพ้นวาระ เกี่ยวกับการต่ออายุสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์ New START ซึ่งเป็นข้อตกลงควบคุมอาวุธกับรัสเซียที่จะหมดอายุลงในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

นอกจากนี้ไบเดนยังได้ส่งสัญญาณว่าเต็มใจที่จะเข้าร่วมในข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านที่ทรัมป์ได้ฉีกทิ้งไปด้วยหากอิหร่านกลับมาจำกัดโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับนิวเคลียร์ตามที่ข้อตกลงกำหนด

เรื่องที่สองที่ไบเดนจะทำคือ จะลดงบประมาณทางทหารของสหรัฐฯ พอประมาณ ซึ่งตรงข้ามกับทรัมป์ที่ได้เพิ่มงบประมาณทางทหารมาก ไบเดนได้ส่งสัญญาณว่าจะให้มีทหารในต่างประเทศน้อยลงและน่าจะเปลี่ยนแปลงนโยบายบางอย่างในกระทรวงกลาโหม ตัวอย่างเช่น หันไปเน้นย้ำอาวุธที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง

สิ่งที่สาม คือ คณะบริหารของไบเดนน่าจะให้ความสำคัญต่อดำเนินนโยบายต่างประเทศของอดีตประธานาธิบดีบุช โอมาบา และทรัมป์ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาทางยุติสงครามในอัฟกานิสถาน และการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม (ไอเอส) และกลุ่มอัลไคดา

ไบเดนได้กล่าวว่าจะลดกองกำลังในสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานที่มีอยู่ 5,200 นายให้เหลือ 1,500-2,000 นาย โดยให้มีบทบาทในการต่อต้านการก่อการร้ายและน่าจะปรับปรุงอาวุธนิวเคลียร์ให้ทันสมัยมากขึ้นต่อไปและโครงการปรับปรุงอุปกรณ์ทางอากาศและทางเรือที่เริ่มขึ้นภายใต้คณะบริหารของโอบามาและเร่งและขยายโครงการในสมัยของทรัมป์

คณะบริหารของไบเดนจะให้ความสำคัญต่อการคุกคามทางทหารและทางเศรษฐกิจที่มาจากจีน เหมือนคณะบริหารของบุช โอมาบา และทรัมป์ต่อไป แต่การเน้นการทูตของไบเดน ก็น่าจะทำให้คณะบริหารของเขาทำงานมากขึ้นที่จะยับยั้งจีนโดยผ่านการเกี่ยวพันทางการทูต และโดยการร่วมมือกับพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาค

คราวนี้มาดูกันที่นโยบายการค้า มีความสงสัยจากทั่วโลกเช่นกันว่าจะแตกต่างจากนโยบายของทรัมป์ขนาดไหน และที่สงสัยใคร่รู้กันมากคือ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะยุติลงหรือไม่

แม้มีความหวังมากขึ้นว่า นโยบายต่างประเทศที่สามารถคาดการณ์ได้มากขึ้น จะสร้างโอกาสมากขึ้นที่จะเกิดความร่วมมือทางการค้าและธุรกิจในระดับหนึ่ง แต่ก็เชื่อกันว่าความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังไม่หมดไปเพราะการเมืองภายในประเทศจะไม่ยอมให้สหรัฐฯ ยกเลิกท่าทีอันแข็งกร้าวต่อจีนอย่างแน่นอน

ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า คณะบริหารของไบเดนจะจัดการเรื่องภาษีที่ทรัมป์ได้เก็บกับจีนอย่างไร แต่ภาษีได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งสองประเทศหลังจากที่จีนตอบโต้การเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ เช่นกัน

แผนนโยบายต่างประเทศของไบเดนถือว่า “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจคือความมั่นคงของชาติ” เมื่อต้นปีนี้ ไบเดนได้เขียนบทความด้าน “กิจการต่างประเทศ” ซึ่งมีชื่อว่า “ทำไมอเมริกาจะต้องเป็นผู้นำอีกครั้ง : การฟื้นฟูนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ หลังยุคทรัมป์”

บทความดังกล่าว ระบุว่า “สหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องแข็งกร้าวกับจีน ถ้าจีนมีหนทางก็จะปล้นเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ และบริษัทอเมริกันต่อไป นอกจากนี้ยังจะคงใช้เงินอุดหนุนรัฐวิสาหกิจเพื่อให้ได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการช่วยให้จีนได้เปรียบในการมีอิทธิพลเหนือเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมในอนาคต แต่หนทางที่มีประสิทธิภาพมากสุดในการจัดการกับความท้าทายนั้นคือ ต้องสร้างแนวร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐฯ เพื่อเผชิญหน้ากับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีนในขณะที่สหรัฐฯ กำลังหาทางร่วมมือกับรัฐบาลปักกิ่งเกี่ยวกับประเด็นที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และความมั่นคงด้านสุขภาพทั่วโลก”

จากแนวคิดนี้ เชื่อว่า ไบเดนยังคงต้องการจะควบคุมจีนเหมือนกับทรัมป์ แต่วิธีการอาจจะแตกต่างกัน ทรัมป์เลือกที่จะเดินหน้าจัดการจีนคนเดียวโดยใช้ภาษีและการข่มขู่ต่าง ๆ ต่อจีนในขณะเดียวกันก็บีบบังคับให้ยุโรปเข้าร่วมในสงครามที่มีต่อบริษัทหัวเหว่ย แต่ไบเดนมีแนวคิดที่จะดำเนินการแบบพหุภาคีด้วยการทำให้พันธมิตรแต่ดั้งเดิมอยู่เคียงข้าง

ยังมีการมองกันว่า ไบเดนจะเน้นการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่คุมระเบียบการค้าโลกด้วย แต่จะไม่โจมตีและมองข้ามหัวดับเบิลยูทีโอเหมือนทรัมป์ได้ทำ

สรุปว่าแนวคิดหลัก ๆ ของไบเดน ไม่ได้แตกต่างจากนโยบายต่างประเทศและนโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ หรือประธานาธิบดีคนอื่น ๆ แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ระหว่างไบเดนและ ทรัมป์คือ ประสบการณ์ การมีอัธยาศัยที่ดี และความชื่นชมต่อพันธมิตร ซึ่งสามสิ่งนี้ก็เพียงพอที่จะทำให้โลกสบายได้ในระดับหนึ่ง

นโยบายต่างประเทศและการค้าของสหรัฐฯ จึงอาจจะเป็นเพียงแค่ “เหล้าเก่าในขวดใหม่” เท่านั้นเอง ดีกรีความแรงของพญาอินทรีย์ คงไม่ลดลงมากสักเท่าไหร่ เพียงแต่ขวดใหม่อาจจะดูสง่างาม สุขุมลุ่มลึก กว่าขวดเก่า เท่านั้นเอง

Back to top button