“สศช.” ชี้ไตรมาส 3 อัตราว่างงานยังสูง กระทบรายได้-ความเป็นอยู่ แนวโน้มหนี้ครัวเรือนเพิ่ม

“สภาพัฒน์” ชี้ไตรมาส 3 อัตราว่างงานยังสูง กระทบรายได้-ความเป็นอยู่ แนวโน้มหนี้ครัวเรือนเพิ่ม


นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยถึงภาวะสังคม ไตรมาส 3/2563 ว่า ในภาพรวมอัตราการว่างงานปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยอัตราการว่างงานในไตรมาส 3/63 พบว่ามีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 7.4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.90 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 1.95 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ส่วนการจ้างงานในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น โดยผู้มีงานทำมีจำนวน 37.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม 1.8% ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีการเปิดเป็นปกติมากขึ้น ประกอบกับฐานการจ้างงานนอกภาคเกษตรในช่วงเดียวกันของปีก่อนลดต่ำลงมาก จากผลกระทบของการส่งออกที่หดตัวและมีการใช้กำลังการผลิตลดลง

ทั้งนี้ สาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาก่อสร้าง, การขายส่งและขายปลีก, การขนส่ง/เก็บสินค้า ในขณะที่สาขาการผลิตยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ซึ่งนอกจากเป็นผลของคำสั่งซื้อที่ลดลงแล้ว อุตสาหกรรมเหล่านี้ยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการแข่งขันกับต่างประเทศ สำหรับภาคเกษตรกรรม แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก แต่เนื่องจากในหลายพื้นที่ของประเทศยังประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้การจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลง -0.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดี แม้แรงงานจะมีงานทำ แต่ไม่ได้เป็นการทำงานอย่างเต็มที่ เนื่องจากชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จาก 43.5 ชม./สัปดาห์ มาเหลือ 41.6 ชม./สัปดาห์ และจำนวนผู้ที่ทำงานล่วงเวลา หรือผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชม./สัปดาห์ ลดลง 19.7% ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณผลผลิต และรายได้ของแรงงานที่อาจลดลงตามชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปถึงกำลังซื้อของครัวเรือน

“ภาวะสังคมไตรมาส 3 นี้ อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง ชั่วโมงการทำงานยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือนในด้านต่างๆ อีกทั้งแรงงานจบใหม่ แรงงานอายุน้อย และมีการศึกษาสูง ยังมีปัญหาการว่างงานเป็นจำนวนมาก” เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2/63 แม้จะมีสัญญาณการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 นี้ แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในระยะต่อไป คือ 1. ความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดระลอกที่สอง 2.การเข้าร่วมมาตรการจ้างงานของรัฐ 3. ผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่อการจ้างงานภาคเกษตรกรรม และ 4. คุณภาพชีวิตแรงงาน

นายดนุชา ยังกล่าวถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนใน ไตรมาส 2/2563 ว่า มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% แต่ชะลอตัวลงจาก 4.1% ในไตรมาส 1/63 โดยคิดเป็นสัดส่วน 83.8% ต่อจีดีพี ทั้งนี้ การที่หนี้ครัวเรือนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รวมถึงมูลค่าหนี้ครัวเรือนที่ยังเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงทางรายได้และการมีงานทำ จากวิกฤติทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

ขณะที่ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อยังมีความเสี่ยงและต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยจากข้อมูลยอดคงค้างหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคาพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 2/63 มีมูลค่า 152,501 ล้านบาท ขยายตัว 19.7% และมีสัดส่วน 3.12% ต่อสินเชื่อรวม ลดลงจากสัดส่วน 3.23% ในไตรมาส 1/63 โดยเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ ที่ทำให้ภาพรวมคุณภาพลูกหนี้มีสถานการณ์ดีขึ้น

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวถึงแนวโน้มหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3/63 โดยคาดว่าความต้องการสินเชื่อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาด และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น เช่นเดียวกันสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี รวมถึงยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นได้ ตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวและสัญญาณการฟื้นตัวที่ยังไม่ชัดเจน

ทั้งนี้ ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อหนี้ครัวเรือนไทย ถือเป็นวิกฤติที่สะท้อนและตอกย้ำถึงความเปราะบางทางการเงิน และปัญหาเชิงโครงสร้างของครัวเรือนไทย จากการขาดหลักประกันและภูมิคุ้มกันในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมา ภาครัฐและสถาบันการเงินได้มีมาตรการในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในส่วนของลูกหนี้รายย่อย และลูกหนี้ธุรกิจ

แต่ในระยะต่อไป หากระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือสิ้นสุดลง และสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว จะเสี่ยงเกิดหนี้เสียจำนวนมาก และครัวเรือนอาจมีการก่อหนี้นอกระบบมากขึ้น โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของทั้งภาครัฐ และสถาบันการเงิน ในการออกแบบนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในสภาวะของความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น

Back to top button