ผลสำรวจ TRACE ชี้ไทยเสี่ยง “ติดสินบน” อันดับ 88 จาก 194 ประเทศทั่วโลก

ผลสำรวจ TRACE ชี้ไทยเสี่ยง “ติดสินบน” อันดับ 88 จาก 194 ประเทศทั่วโลก


TRACE สมาคมธุรกิจซึ่งมุ่งมั่นต่อต้านการให้และรับสินบน สนับสนุนธรรมาภิบาลและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เปิดตัว Bribery Risk Matrix ประจำปี 2563 ซึ่งวัดความเสี่ยงการติดสินบนทางธุรกิจใน 194 ประเทศและดินแดน โดยข้อมูลในปีนี้เผยให้เห็นว่า เกาหลีเหนือ เติร์กเมนิสถาน เซาท์ซูดาน เวเนซุเอลา และเอริเทรีย มีความเสี่ยงจากการติดสินบนทางการค้าสูงที่สุด ขณะที่เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน และนิวซีแลนด์ มีความเสี่ยงน้อยที่สุด สำหรับประเทศไทยติดอันดับ 88 ความเสี่ยงระดับปานกลาง

ขณะที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริการ่วงลง 8 อันดับจากปี 2562 และหลุดจาก 20 อันดับแรก จากอันดับ 15 ในปีที่แล้ว ลงมาอยู่ที่อันดับ 23 ในปีนี้ ทำคะแนนไป 20 คะแนนจาก 100 คะแนน

โดยคะแนน 1-22 หมายถึงประเทศนั้นๆ มีความเสี่ยงในการให้และรับสินบนต่ำมาก, 23-38 ความเสี่ยงต่ำ, 39-56 ความเสี่ยงปานกลาง, 57-74 ความเสี่ยงสูง และ 75-100 ความเสี่ยงสูงมาก

ส่วนจีนอยู่ในอันดับที่ 126 ด้วยคะแนน 54 คะแนน ซึ่งปานกลางค่อนไปทางสูง อย่างไรก็ดี รายงานระบุว่า จีนได้พยายามลดโอกาสการเรียกสินบนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยการปรับปรุงระบบราชการอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่โซมาเลียไต่ขึ้นจากอันดับสุดท้าย ซึ่งติดอันดับมาตั้งแต่ปี 2560-2562 โดยขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 187 ในปีนี้

สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 88 จากทั้งหมด 194 อันดับ และรั้งอันดับที่ 20 จาก 50 ประเทศในเอเชีย ซึ่งดีกว่าจีนซึ่งอยู่ในอันดับที่ 30 ของภูมิภาค โดยไทยทำคะแนนรวมได้ 47 คะแนน ซึ่งหมายถึงมีความเสี่ยงปานกลาง ลดลงเล็กน้อยจากปี 2562 ซึ่งมีคะแนนอยู่ที่ 48 คะแนน

TRACE Matrix ช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถตรวจสอบเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่การติดสินบนในการทำธุรกิจและการค้า ประกอบด้วย (1) ลักษณะและขอบเขตของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชน (2) ทัศนคติของสังคมที่มีต่อการให้สินบนและความสามารถของรัฐบาลในการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการติดสินบน (3) ความโปร่งใสของภาครัฐ และ (4) ความสามารถของภาคประชาสังคมในการตรวจสอบและเปิดโปงการทุจริต

โดยใน 3 เกณฑ์แรกนั้น ไทยได้คะแนนปานกลาง อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาความสามารถของภาคประชาสังคมในการตรวจสอบการทุจริตนั้น ไทยได้คะแนนย่ำแย่ เนื่องจากเสรีภาพของสื่อและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ TRACE Matrix เริ่มจัดทำเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2557 เพื่อตอบสนองชุมชนธุรกิจที่ต้องการข้อมูลที่เชื่อถือได้มากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการให้และรับสินบนทั่วโลก โดยชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการเผชิญกับการเรียกสินบนเมื่อทำธุรกิจในประเทศที่ถูกจัดอันดับ

          “TRACE Matrix ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงธุรกิจเป็นหลัก ด้วยการรวบรวมแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องหลายแหล่งที่ไม่จำกัดเพียงเพื่อแสดงการรับรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน แต่ยังสะท้อนความมุ่งมั่นของประเทศต่างๆ ในการป้องกันการคอร์รัปชันผ่านทางการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ เพิ่มความโปร่งใส พัฒนาความทันสมัยของระบบราชการ และให้อำนาจกับประชาสังคม” Gonzalo Guzman ที่ปรึกษาทั่วไประดับโลก ฝ่ายต่อต้านการคอร์รัปชันที่ Unilever กล่าว

Back to top button