แบดไทยสร้างโมเดลโลก

แบดมินตัน เป็นกีฬายอดฮิตระดับโลก ที่คนไทยนิยมชมชอบในระดับต้น ๆ รองจากมวยและฟุตบอล และนักกีฬาไทยก็สามารถทำผลงานดีเด่น เป็นมือระดับต้น ๆ ทุกประเภททั้งชายเดี่ยว ชายคู่ หญิงเดี่ยว หญิงคู่ และคู่ผสมมาตั้งแต่รุ่นเก๋ากึ๊กเมื่อ 50-60 ปีก่อน


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

แบดมินตัน เป็นกีฬายอดฮิตระดับโลก ที่คนไทยนิยมชมชอบในระดับต้น ๆ รองจากมวยและฟุตบอล และนักกีฬาไทยก็สามารถทำผลงานดีเด่น เป็นมือระดับต้น ๆ ทุกประเภททั้งชายเดี่ยว ชายคู่ หญิงเดี่ยว หญิงคู่ และคู่ผสมมาตั้งแต่รุ่นเก๋ากึ๊กเมื่อ 50-60 ปีก่อน

ยุคปัจจุบันก็มี “เมย์” รัชนก มือ 5 ของโลก, “บาส” เดชาพล-“ปอป้อ” ทรัพย์สิรี คู่ผสมมือ 3 ของโลก, “กัน” กันตพณ หวังเจริญ ดาวรุ่งมืออันดับ 15 ของโลก ซึ่งพร้อมจะปราบมือวางอันดับสูงได้ทุกคน และ “กิ๊ฟ” จงกลพรรณ-“วิว” รวินดา หญิงคู่มือ 11 ของโลก ลงแข่งให้คนไทยได้ลุ้นทั้ง 3 รายการ

โชคดีในโชคร้ายของคนไทยจากผลกระทบโควิด ก็คือ ตลอดเดือนมกราคมทั้งเดือนนี้ ชาวไทยและชาวโลกกว่า 3,000 ล้านคน จะได้รับชมแบดมินตันระดับบิ๊กเบิ้ม “เวิลด์ทัวร์1000” ถึง 2 รายการ คือ โยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น (12-17 ม.ค.), โตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น (19-24 ม.ค.)

อีกทั้งปิดท้ายรายการที่ 3 ด้วยเอชเอสบีซี บีดับเบิ้ลยูเอฟ เวิลด์ทัวร์ ไฟแนล (27-31ม.ค.) ที่เอามือวาง 8 อันดับแรกของโลกมาชิงชัยหาผู้ที่เป็นเลิศที่สุดในบรรดา 8 มืออันดับแรกของโลก เฉพาะรายการนี้ชิงเงินรางวัลรวม 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนอีก 2 รายการ ชิงเงินรางวัลรายการละ 1 ล้านเหรียญ

เบ็ดเสร็จ แบดฯ 3 รายการนี้ ชิงเงินรางวัลรวมทั้งสิ้น 3.5 ล้านเหรียญ คิดเอาอัตราแลกเปลี่ยนที่ 30 บาท/ดอลลาร์ ก็มีมูลค่ารางวัลไม่ต่ำกว่า 105 ล้านบาท

ไม่เคยมีประเทศไหน ได้จัดรายการใหญ่ขนาดนี้มาก่อน ใหญ่ไหมใหญ่แค่ไหน ก็ดูเอาจากรายการ “เวิลด์ทัวร์” ระดับ 1000 ในโลกนี้ มีแค่ 3 รายการเท่านั้น แต่มาตกอยู่เมืองไทยถึง 2 รายการ แถมยังมีเวิลด์ทัวร์ ไฟแนลระดับ 6 ดาวส่งท้ายให้อีก

นอกจากความยิ่งใหญ่อลังการงานสร้างแล้ว งานนี้สมาคมกีฬาโลก ซึ่งไม่เพียงแต่ประเภทกีฬาแบดมินตันเท่านั้น ต่างให้ความสนใจในด้านการจัดการแข่งขันของเจ้าภาพอย่างใจจดใจจ่อ เพราะเป็นการจัดการแข่งขันในช่วงโควิดระบาดหนักทั่วโลก ซึ่งต้องอาศัยการจัดงานแนวใหม่ ซึ่งไม่ซ้ำรอยแนวเดิมที่เคยจัดการแข่งขันกันมา

วัดดวงจะเป็นโมเดลใหม่ของการจัดกีฬาระดับโลกได้เลยทีเดียว!

นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทุกคน ต้องบินมาถึงล่วงหน้าก่อน 7 วัน โดยมีใบรับรองการตรวจโรคโควิดภายใน 72 ชั่วโมงมายืนยัน การเดินทางออกจากสนามบินไปยังโรงแรมที่พัก จะใช้รถบัสบรรทุกนักกีฬาชาติละ 1 คัน ตรวจโรคเมื่อถึงห้องพักซึ่งทุกคนจะต้องมีผลการตรวจเป็นลบ

นอกจากนี้จะมีการตรวจโควิดทุก ๆ 3 วัน

หลักใหญ่แห่งมาตรการจัดการแข่งขันคราวนี้ จะให้นักกีฬาและเจ้าหน้าที่เข้าอยู่ภายใต้การคุ้มกันใน “บับเบิ้ล” หมด โดยไม่มีการสัมผัสกับบุคคลภายนอกบับเบิ้ล เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีการระบาดของโรค นักกีฬาพักห้องละ 1 คน แยกรับประทานข้าวกล่องในห้องพักของตนเอง

ในสนามไม่มีคนดู แต่จะถ่ายทอดสดผ่านช่องทางของทรูวิชั่นทั้งทรูสปอร์ตช่อง 668, 686, ทรูสปอร์ต HD2 และ

ฟรีทีวีช่องทรู4ยู ถ่ายทอดสดไปทั่วโลกให้คน 3,000 ล้านคนได้รับชม

การฝึกซ้อมของนักกีฬา จะมีการเนรมิตสนามฝึกซ้อมและห้องฟิตเนสขึ้นมาใหม่ในคอนเวนชั่น ฮอลล์ 5 เมืองทองธานี โดยสนามซ้อมจะมีผนังกั้นให้แต่ละประเทศซ้อมครั้งละไม่เกิน 45 นาที และทำความสะอาดทันที 15 นาที ก่อนนักกีฬาประเทศอื่นจะเข้ามาซ้อมต่อ

ในส่วนของสนามแข่งขัน ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระบบปกติจะใช้ 4 สนาม แต่ในครั้งนี้จะใช้แค่ 3 สนาม เพื่อเว้นระยะห่างและลดจำนวนเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันด้วย ภายในสนามจะแบ่งโซนเพื่อลดการสัมผัส การสัมภาษณ์นักกีฬาหรือโค้ช จะผ่านระบบออนไลน์

คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมกีฬาแบดมินตันไทย และรองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลกคนที่ 1 มั่นใจเต็มร้อยกับความปลอดภัย และความท้าทายที่จะแสดงให้โลกเห็นว่า ประเทศไทยสามารถจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกได้ในภาวะวิกฤตโรคระบาดร้ายแรง

“นี่คือโอกาสของเรา ที่จะแปรวิกฤตเป็นโอกาส ในอนาคตเรายังสามารถนำความเชื่อมั่นที่สร้างไว้ เป็นเครดิตไปต่อยอด จัดเกมกีฬาใหญ่ ๆ ได้ต่อไป” หญิงเหล็กวงการกีฬาไทยและเวทีโลก มั่นใจเต็มที่

ร่วมกันเชียร์นักแบดมินตันไทยไปพร้อมกับพลโลก 3 พันล้านคน และโชว์ความเป็นไทยในการบริหารจัดการกีฬาภายใต้วิกฤตกันนะครับ

Back to top button