พาเหรดหั่นเป้า GDP ปี 64 เซ่นพิษวิกฤติ “โควิด-19” ครั้งใหม่ ทำศก.ชะงัก

พาเหรดหั่นเป้า GDP ปี 64 เซ่นพิษวิกฤติ "โควิด-19" ครั้งใหม่ ทำศก.ชะงัก


จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทยในขณะนี้ ทำให้เกิดการยกระดับมาตรการใน 28 จังหวัดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด จนส่งผลให้หลายสำนักเศรษฐกิจที่เคยประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ประเทศไทย ปี 2564 จะขยายตัวราว 2.8-4.1% ทยอยปรับลดประมาณการออกมาอย่างต่อเนื่อง

โดยช่วงปลายปี 2563 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการ GDP ปี 2564 ลดลงมาอยู่ที่ 3.2% จากเดิม 3.6% ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี 2564 พบว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2564 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5% ถึง 3.5% ซึ่งลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าขยายตัวได้ 2% ถึง 4% และล่าสุดมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ปรับคาดการณ์ GDP ปีนี้เติบโตเหลือ 2.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.8%

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2563 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 63 ดีขึ้นเป็นหดตัว -6.6% จากก่อนหน้าที่เคยประเมินไว้ว่าจะหดตัว -7.8% แต่ปรับประมาณการของปี 64 ลดลงมาอยู่ที่ 3.2% จากเดิม 3.6% เนื่องจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติล่าช้าออกไปเป็นราวกลางปีหน้าเมื่อมีการกระจายวัคซีนป้องกันโควิดไปทั่วโลก และคาดว่า GDP ในปี 65 จะขยายตัวได้ถึง 4.8% ตามภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ส่วน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5% ถึง 3.5% หากควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าขยายตัวได้ 2% ถึง 4%

ทั้งนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหยุดชะงัก การท่องเที่ยวในประเทศซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตลอดครึ่งหลังของปี 2563 ไม่สามารถเดินต่อได้ชั่วคราว หลังจากมีมาตรการเข้มงวดจำกัดการเดินทางในหลายจังหวัดที่มีประชากรมากหรือเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวในประเทศ คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน และยังส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน

“สถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ กกร.ปรับลดคาดการณ์ และการส่งออกยังมีปัญหาเรื่องขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้า” นายกลินท์ กล่าว

สอดคล้องกับ นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศ ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น โดยการระบาดขยายวงกว้างไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นขึ้นนั้น อาจส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้เติบโตเหลือ 2.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมที่ 2.8%

อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะติดลบหนักได้หากคุมสถานการณ์การระบาดไว้ไม่อยู่ และทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นขึ้น (ฮาร์ด ล็อกดาวน์) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/64 มีโอกาสจะหดตัวมากถึง -11.3% แต่ปัจจุบัน ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 นี้ อาจจะหดตัว -4% และหากสถานการณ์การระบาดสามารถคลี่คลายได้ภายในไตรมาส 1 ก็มีโอกาสที่ GDP ไตรมาส 2 จะพลิกกลับมาขยายตัวได้ 8-10% ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อนด้วย

ทั้งนี้ เมื่อเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็นประชาชนอาจต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพิ่มขึ้น ซึ่งมีโอกาสจะทำให้หนี้ครัวเรือนในปีนี้ทะลุระดับ 90% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้ในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ ถ้าไม่สามารถควบคุมการระบาดได้จนทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น

ขณะที่ในส่วนของฝ่ายวิจัยบล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ในเบื้องต้นคาดการณ์ GDP ปี 2564 ของเดิมที่ 4.1% คาดจะปรับลงเช่นกัน แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ล็อกดาวน์ของรัฐบาลว่าจะยืดเยื้อนานเท่าไร โดยประเมินทุกๆ 1 เดือน GDP หัวตัวราว 1.2% หรือมูลค่าเศรษฐกิจ Real GDP หายไปราว 1.26 แสนล้านบาท โดยในเบื้องต้นประเมิน GDP ทั้งปี 2564 ขยายตัวในช่วง 2.1%-2.7%

Back to top button