สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 12 ม.ค. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 12 ม.ค. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (12 ม.ค.) โดยได้ปัจจัยบวกจากความหวังที่ว่า รัฐบาลสหรัฐชุดใหม่ภายใต้การนำของนายโจ ไบเดน จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งจะช่วยหนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ดี ตลาดปรับตัวในกรอบแคบๆ เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นด้วย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการซื้อสินทรัพย์

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,068.69 จุด เพิ่มขึ้น 60.00 จุด หรือ +0.19% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,801.19 จุด เพิ่มขึ้น 1.58 จุด หรือ +0.04% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,072.43 จุด เพิ่มขึ้น 36.00 จุด หรือ +0.28%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดทรงตัวเมื่อคืนนี้ (12 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขาย ขณะจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19,  ภาวะการเมืองในสหรัฐ และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่จากรัฐบาลของนายโจ ไบเดน

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดเพิ่มขึ้น 0.05% ปิดที่ 408.61 จุด

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,925.06 จุด ลดลง 11.60 จุด หรือ -0.083%, ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,650.97 จุด ลดลง 11.46 จุด หรือ -0.20% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,754.11 จุด ลดลง 44.37 จุด หรือ -0.65%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (12 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่เงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้นกดดันหุ้นกลุ่มส่งออก

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,754.11 จุด ลดลง 44.37 จุดหรือ -0.65%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (12 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงขานรับข่าวซาอุดีอาระเบียสมัครใจปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรล/วัน นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 96 เซนต์ หรือ 1.8% ปิดที่ 53.21 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 92 เซนต์ หรือ 1.7% ปิดที่ 56.58 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (12 ม.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อย่างไรก็ดี สัญญาทองคำปรับตัวลงไม่มากนัก เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 6.6 ดอลลาร์ หรือ 0.36% ปิดที่ 1,844.2 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 15.1 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 25.435 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 23.2 ดอลลาร์ หรือ 2.22% ปิดที่ 1,067.8 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 2.60 ดอลลาร์ หรือ 0.1% ปิดที่ 2,376.20 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (12 ม.ค.) โดยดอลลาร์อ่อนค่าลงในช่วงท้ายตลาด หลังจากที่แข็งค่าในระหว่างวัน อันเนื่องมาจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ดีดตัวขึ้น ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.41% แตะที่ 90.0900 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 103.80 เยน จากระดับ 104.15 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8868 ฟรังก์ จากระดับ 0.8894 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2723 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2775 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2201 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2163 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3663 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3524 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7769 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7708 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button