SINGER ขาขึ้นรอบใหม่! บวก 6% ลุ้นกำไร Q4 โตทะลัก 186% แนะซื้อเป้า 30 บ.

SINGER ขาขึ้นรอบใหม่! บวก 6% ลุ้นกำไร Q4 โตทะลัก 186% แนะซื้อเป้า 30 บ.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ณ เวลา 12.07 น. อยู่ที่ระดับ 27.25 บาท บวก 1.50 บาท หรือ 5.83% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 241.74 ล้านบาท ราคาหุ้นรับแรงรอบใหม่ลุ้นผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2563 โตแรง

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้นบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ราคาเป้าหมาย 30 บาท/หุ้น โดยประเมินว่าสินเชื่อปี 2564-2565 จะขยายตัวต่อเนื่องเพิ่มขึ้นสูงปีละ 65%/51% หนุนโดย 1) การเร่งปล่อยสินเชื่อรถทำเงิน (C4C) เชิงรุก คาดจะขยายตัวปีละ 114%/85% จากความเสี่ยงในการดำเนินงานที่ต่ำ ในด้าน NPLs ที่ต่ำกว่าสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเดิม และมีโอกาสในการขยายตัวที่สูง และ 2) บริษัทมีฐานเงินทุนที่สูงขึ้น เพื่อขยายสินเชื่อ จากการใช้สิทธิ SINGER W-1 และ SINGER W-2 ในปี 2563-2564 และได้รับการอนุมัติเพิ่มวงเงินการออกหุ้นกู้เป็น 8พันล้านบาท ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2563า

ขณะที่แนวโน้ม NPLs จะกลับมาอยู่ในระดับที่ต่ำ จากสินเชื่อ C4C โดยประเมินว่าปัญหา NPLs ที่สูง และกดดันต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปี 2560-2561 นั้นคลี่คลาย และทำให้ NPLs จะลดลงสู่ระดับต่ำคาดปี 2563/2564 ที่ 3.1%/3.5% จาก 1) สัดส่วนสินเชื่อ C4C ที่มี NPLs ต่ำ (ไม่เกิน 1%) เพิ่มขึ้น โดยประเมินว่าสินเชื่อ C4C ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อ Fleet และสินเชื่อในธุรกิจ logistic ที่มีความต้องการสินเชื่อที่สูง และมีโอกาสเป็น NPLs ที่ต่ำ และ 2) ระบบการปล่อยสินเชื่อ และการติดตามลูกหนี้ของบริษัทที่บริษัทเริ่มนำมาใช้ในปี 2560 นั้นมีประสิทธิภาพ รวมทั้งบริษัทได้ตัดจำหน่ายหนี้สูญในอดีตสูง

ส่วนกำไรสุทธิปี 2563/2564 จะกลับมาขยายตัวจากค่าใช้จ่ายสำรองฯที่ลดลง ประเมินกำไรสุทธิปี 2563 ที่ 438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 164%  และกำไรปี 2564 ที่ 581 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% โดยเป็นผลของ 1) สินเชื่อที่ขยายตัว 65%/+51% และ 2) ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯลดลงคิดเป็น credit cost ที่ 307/354 bps จากปี 2562 ที่ 1,088 bps โดยเชื่อว่าบริษัทได้ตัดจำหน่ายหนี้เสียของสินเชื่อเดิมที่ค้างในระบบส่วนใหญ่ในปี 2562 แล้ว สังเกตได้จากหนี้เสียที่ตัดจำหน่ายใน 9M20 ที่เพียง 303 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง (ไตรมาส 3/63 = 18 ล้านบาท) จากที่ตัดจำหน่ายในปี 2562 ที่ 475 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามประเมินว่า loan spread ของบริษัทจะปรับตัวลงสู่ระดับ 14.8%/13.7% ในปี 2563/2564 จาก loan yield ที่ลดลงเป็น 20.6%/19.6% ตามสัดส่วนสินเชื่อ C4C ที่มี loan yield ต่ำ เพิ่มขึ้น รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้นเป็น 5.8%/5.9% ตามหุ้นกู้ที่ออกในปี 2563 และมีต้นทุนทางการเงินที่ 5.75-5.90%

ทั้งนี้ประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 4/63 ที่ 119 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 186% เมื่อเทียบจากปีก่อน และ 1% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน  โดยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปีก่อน จากรายได้ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น 55% เมื่อเทียบจากปีก่อน ตามสินเชื่อที่ขยายตัว 65% เมื่อเทียบจากปีก่อน และค่าใช้จ่ายสำรองฯลดลง 73% เมื่อเทียบจากปีก่อน ตาม NPLs ที่ดีขึ้นเป็น 4.9% (ไตรมาส 4/62 = 9.3%) และการตัดจำหน่ายหนี้สูญที่น้อยลงสู่ระดับต่ำคาดเพียง 29 ล้านบาท (ไตรมาส 4/63 = 232 ล้านบาท)

 

Back to top button