มิติใหม่ ‘ซีเอสอาร์’

การระบาดของโควิด-19 ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมมากยิ่งขึ้น  คนที่จนอยู่แล้วก็ยิ่งจนลงไปอีก ในขณะที่คนที่พอจะมีเงินเก็บหลังจากที่เก็บหอมรอมริบมานาน  ก็ต้องควักเงินออมออกมาใช้เพื่อประคองชีวิตให้ผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปให้ได้  แม้ว่าท่ามกลางวิกฤติ จะมีข่าวดี ๆ ให้เราได้เห็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของคนในสังคมตามโซเชียลอยู่บ้าง เช่นการตั้งตู้ปันสุข  หรือการบริจาคเงินและสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ  แต่ที่เป็นกระแสและอาจเป็นเทรนด์ใหม่จากนี้ไป คือ การประกาศร่วมรับผิดชอบต่อสังคมของ “ยูนิลีเวอร์”


กระแสโลก : ฐปนี แก้วแดง

การระบาดของโควิด-19 ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมมากยิ่งขึ้น  คนที่จนอยู่แล้วก็ยิ่งจนลงไปอีก ในขณะที่คนที่พอจะมีเงินเก็บหลังจากที่เก็บหอมรอมริบมานาน  ก็ต้องควักเงินออมออกมาใช้เพื่อประคองชีวิตให้ผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปให้ได้  แม้ว่าท่ามกลางวิกฤติ จะมีข่าวดี ๆ ให้เราได้เห็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของคนในสังคมตามโซเชียลอยู่บ้าง เช่นการตั้งตู้ปันสุข  หรือการบริจาคเงินและสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ  แต่ที่เป็นกระแสและอาจเป็นเทรนด์ใหม่จากนี้ไป คือ การประกาศร่วมรับผิดชอบต่อสังคมของ “ยูนิลีเวอร์”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ยูนิลีเวอร์ประกาศว่า ต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมเพื่อช่วยสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้นด้วยการประกาศกลยุทธ์ที่ตั้งใจจะทำหลายอย่างเพื่อยกมาตรฐานความเป็นอยู่ทั่วห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม (inclusivity) และเตรียมคนสำหรับการทำงานในอนาคต

หนึ่งในกลยุทธ์ที่ได้รับฟังแล้วถือว่า ได้ใจที่สุด คือ บริษัทประกาศว่าภายในปี 2573 บริษัทจะไม่ทำธุรกิจกับบริษัทใด ๆ ที่ไม่จ่ายค่าจ้างที่พอสำหรับเลี้ยงชีพ (living wage) แก่ลูกจ้างอีกต่อไป

ยูนิลีเวอร์กำหนดนิยาม “ค่าจ้างที่พอสำหรับเลี้ยงชีพ” ว่า เป็นค่าจ้างที่พอสำหรับความจำเป็นพื้นฐานของครอบครัว และช่วยให้ลูกจ้างหลุดพ้นจากวงจรความยากจนได้  บริษัทให้เหตุผลว่า ต้องการเพิ่มค่าแรงของคนที่อยู่นอกกำลังแรงงานของบริษัท เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ

เป้าหมายในการทำเช่นนี้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนหลายล้านคนทั่วโลกจะมีมาตรฐานการครองชีพที่ช่วยให้พวกเขามีอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย การศึกษา และได้ดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว

แม้ว่าในขณะนี้ยูนิลีเวอร์ได้จ่ายค่าจ้างที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพให้กับพนักงานในบริษัทแล้ว แต่บริษัทต้องการขยายต่อไปยังซัพพลายเชนของบริษัทเพิ่มอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะโฟกัสไปที่คนงานที่เปราะบางมากที่สุดในภาคผลิตและภาคเกษตร

รายงานของยูไนเต็ด เนชั่นส์ ยูนิเวอร์ซิตี้ ที่เผยแพร่เมื่อปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาอาจทำให้ประชาชนมากกว่า 500 ล้านคนเข้าสู่ความยากจนทั่วโลก

นอกเหนือจากการตั้งเป้าเรื่องค่าจ้างที่พอต่อการเลี้ยงชีพแล้ว ยูนิลีเวอร์ยังมีแผนช่วยเหลือ บริษัทเอสเอ็มอี 5 ล้านบริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของบริษัท สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจด้วยการเข้าถึงทักษะ สินเชื่อ และเทคโนโลยีภายในปี 2568

ตามส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะขับเคลื่อนความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วม ยูนิลีเวอร์มีแผนใช้เงิน 2,000 ล้านยูโรต่อปีไปกับซัพพลายเออร์ที่มีกลุ่มคนที่ถูกมองข้าม (under-represented groups) เป็นเจ้าของหรือเป็นผู้บริหาร ภายในปี 2568

บริษัทซัพพลายเออร์เหล่านี้จะเป็นบริษัทเอสเอ็มอีที่เป็นเจ้าของและบริหารโดย ผู้หญิง กลุ่มคนที่ถูกมองข้าม ชนกลุ่มน้อย  คนพิการและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI) นอกจากนี้ยูนิลีเวอร์ จะเพิ่มความหลากหลายของคนที่จะปรากฏและทำงานหลังกล้องในโฆษณาของบริษัทด้วย

เป้าหมายอีกอย่างหนึ่งของยูนิลีเวอร์คือ ช่วยให้เยาวชน 10 ล้านคนมีทักษะที่จำเป็นเพื่อได้โอกาสในการทำงานภายในประมาณปี 2573 เนื่องจากเยาวชนได้รับผลกระทบจากการสูญเสียงานและรายได้   การหยุดชะงักของการศึกษาและการฝึกอบรม อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ของสหประชาชาติในเดือนสิงหาคมพบว่า 42% ของคนหนุ่มสาวทั่วโลกต้องสูญเสียรายได้เนื่องจากการระบาด

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ยูนิลีเวอร์ได้ดำเนินกลยุทธ์เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม  ในปีที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อทำให้ธุรกิจยั่งยืนมากขึ้น เช่น ใช้ข้อมูลบอกตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และภาพจากดาวเทียมเพื่อเช็กเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่าในซัพพลายเชนของบริษัท

ความจริงแล้วไม่ได้มียูนิลีเวอร์รายเดียวที่ให้คำมั่นว่าจะรับผิดชอบต่อสังคมเช่นนี้ ยังมีบริษัทข้ามชาติรายใหญ่อื่น ๆ อีกหลายแห่งที่ได้ให้คำมั่นแบบนี้เช่นกัน  เช่น โซเด็กซ์โซ่ บริษัทข้ามชาติใหญ่สุดของฝรั่งเศส และ คอมพาสส์ กรุ๊ป ของอังกฤษ ทั้งสองบริษัทนี้เป็นยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการด้านอาหารที่มีธุรกิจในหลายประเทศทั่วโลก  การตัดสินใจเข้าไปกดดันซัพพลายเชนของบริษัท จึงน่าจะมีผลดีต่อแรงงานหลายล้านคนทั่วโลก

ที่ร่ายมาทั้งหมดนี้ อาจจะเป็นโทนข่าวประชาสัมพันธ์ไปหน่อย แต่ต้องขอยกย่องกับแนวคิดที่มองไกล  หวังสร้างความยั่งยืน และขับเคลื่อนสังคมในทางที่ดีแบบนี้  อยากจะเผยแพร่เป็นตัวอย่างให้กับบริษัทในบ้านเราได้ตระหนักและรับรู้ด้วยว่า การทำธุรกิจที่มุ่งแต่แสวงหากำไรเป็นหลักอย่างเดียว ไม่น่าจะได้ผลอีกต่อไปในยุคนี้

แนวคิดที่ว่าเอาธุรกิจเราให้รอดก่อน คนอื่นเป็นไงช่างมัน กดค่าแรง หรือลดต้นทุน จนไม่คำนึงถึงคุณภาพของสินค้า ความปลอดภัยของผู้บริโภค และคุณธรรมของบริษัทคู่ค้า และไม่เหลียวมองสังคมรอบข้างว่ากำลังเดือดร้อนขนาดไหน  อาจเป็นอันตรายยิ่งต่อธุรกิจนั้น ๆ เมื่อช่องว่างทางสังคมมันถ่างมากขึ้นเรื่อย ๆ

นึกถึงเนื้อเพลง “โลกสวยด้วยมือเรา” ของพี่เบิร์ดขึ้นมาทันที … “ให้โลกเราสวย พวกเรามาช่วยกัน”

Back to top button