“สศค.” ปรับเป้าจีดีพีปี 63 ติดลบน้อยลง หั่นปี 64 เหลือโต 2.8% เจอพิษโควิดรอบใหม่

“สศค.” ปรับเป้าจีดีพีปี 63 ติดลบน้อยลง หั่นปี 64 เหลือโต 2.8% เจอพิษโควิดรอบใหม่


สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 63 มาที่ -6.5% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ -6.8 ถึง -6.3%) จากเดิมที่คาดไว้ที่ -7.7% สาเหตุที่ GDP ปีนี้ติดลบน้อยลง เนื่องจากการที่รัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี และมีมาตรการเยียวยาออกมาต่อเนื่อง

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่าเศรษฐกิจไทยปี 63 หดตัวน้อยกว่าที่ประมาณการไว้เดิม ณ เดือนต.ค.63 ที่ -7.7% ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดี และมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2563

โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะหดตัวที่ -0.9% และการลงทุนภาคเอกชน -8.9% ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่หดตัว -3.0% ต่อปี และ -9.8% ต่อปี ตามลำดับ และมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยปรับตัวดีขึ้นที่ -6.6% ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ -7.8% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักฟื้นตัวได้เร็วดีกว่าที่คาด หลังจากที่หลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด

น.ส.กุลยา กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.8% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.3 – 3.3%) ปรับลดจากการการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ระบาดในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทำให้คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปี 2564 จะลดลง

อย่างไรก็ดี มีสัญญาณบวกจากการได้รับวัคซีนของประชากรในประเทศต่าง ๆ ในระยะต่อไป ประกอบกับภาครัฐได้ดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาทิ โครงการคนละครึ่ง, โครงการเราชนะ และมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบกับคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเงินจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ในส่วนที่เหลืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการจ้างงานให้เพิ่มสูงขึ้น

โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 2.5% ต่อปี และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 3.4% ต่อปี ขณะที่การบริโภคภาครัฐ จะขยายตัวที่ 6.1% ต่อปี และการลงทุนภาครัฐ จะขยายตัวที่ 12.1% ต่อปี สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัวที่ 6.2% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 5.7 – 6.7%) โดยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 จะอยู่ที่ 1.3% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.8 – 1.8%) ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีทิศทางสูงขึ้น และการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

“เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความคืบหน้าของวัคซีน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ” โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าว

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ การควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19, ความสำเร็จในการฉีดวัคซีนของประเทศต่าง ๆ และ นโยบายทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและความผันผวนของเงินลงทุนระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมั่นใจว่าประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และมีฐานะการคลังที่มีความมั่นคงและมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมที่จะดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป

Back to top button