ก.ล.ต.ชงคลังแก้กม. กำกับ “สินทรัพย์ดิจิทัล” ส่งฉบับร่าง Q3 หวังลดอุปสรรคออกโทเคน

ก.ล.ต.ชงคลังแก้กม. กำกับ "สินทรัพย์ดิจิทัล" ส่งฉบับร่าง Q3 หวังยกระดับ-ลดอุปสรรคออกโทเคน


น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) กล่าวในการเสวนาก้าวต่อไปของ ก.ล.ต. ธุรกิจ และการลงทุนในยุคดิจิทัล ว่า ทิศทางการพัฒนาและกำกับดูแลการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีพัฒนาการที่คืบหน้าต่อเนื่อง โดยได้มีการปรับปรุงการกำกับดูแล  ICO และ STO ให้เทียบเคียงได้กับการออกหลักทรัพย์ โดยต้องยอมรับว่าปัจจุบันความสนใจการออก ICO ที่มีการนำสินทรัพย์มาเป็นหลักประกันกำลังได้รับความนิยมเช่นเดียวกับหลักทรัพย์ ดังนั้น หลักเกณฑ์ในการออก การดูแล การเปิดเผยข้อมูลจะต้องเทียบเคียงกับหลักทรัพย์

โดยในเดือน มี.ค.นี้ ก.ล.ต.จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน หรือ ก.ล.ต.เอเซียแปซิฟิก  ซึ่งในเวทีนี้ทางจะนำเรื่องการพัฒนาสินทรัพย์และดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลเข้าหารือร่วมด้วย เนื่องด้วย Tokenization เป็นทางเลือกในการระดมทุนยุคใหม่ ซึ่งจะมีการพูดคุยว่าการลงทุนในคริปโตในมุมมองผู้ลงทุนเป็นอย่างไร การระดมทุนแบบดั้งเดิมและระดมทุนแบบดิจิทัลจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นภารกิจที่ ก.ล.ต.ต้องทำเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนทั้งแบบดั้งเดิมและสินทรัพย์ดิจิทัล

ขณะที่ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างปรับปรุงกฎหมายหลักทรัพย์เพื่อดูแลนักลงทุน และการกำหนดให้โทเคนอยู่ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 3 นี้ จะส่งร่างแก้ไขกฎหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาได้ เพื่อกำกับดูแลให้การลงทุนและการระดมทุนด้วยคริปโทเคอร์เรนซี่มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น สนับสนุนให้มีการพัฒนาและลดอุปสรรคในการออก

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้ให้ข้อมูลกับนักลงทุนในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การเปิด 6 ข้อควรรู้ในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล การจะสรุปภาพรวมการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลทุกสัปดาห์ เพื่อให้นักลงทุนได้ทราบการเคลื่อนไหวของการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีมีความผันผวนสูงมาก จึงอยากเตือนให้นักลงทุน โดยเฉพาะเยาวชนที่สนใจ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก จำเป็นอย่างยิ่งต้องทราบว่าการลงทุนประเภทนี้ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ มีความผันผวน เป็นลักษณะการเก็งกำไรสูง ผู้ลงทุนต้องเข้าใจความเสี่ยง และต้องยอมรับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้

ด้าน น.ส.นภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน ก.ล.ต. กล่าวในหัวข้อ “ก.ล.ต.กับทิศทางการกำกับดูแล STO และ ICO” ว่า ก.ล.ต.ได้มีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับที่ 6 ในส่วนของการออกหลักทรัพย์ดิจิทัล (Securities Token Offering : STO) ให้รองรับเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เพื่อออกและเสนอขายโทเคนเป็นดิจิทัล จากเดิมที่ออกเป็นใบหลักทรัพย์

“ก.ล.ต.มีแนวคิดนำบล็อกเชนมาใช้ในการระดมทุน ออกเสนอขายโทเคนเป็นดิจิทัลเพื่อระดมทุน ในฝั่งหลักทรัพย์เองเราก็มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับ เช่น ต่อไปนี้การออกหลักทรัพย์ แม้กฎหมายจะบอกว่าหลักทรัพย์นั้นต้องออกเป็นใบ แต่ถ้านำไปฝากที่ศูนย์รับฝากที่ ก.ล.ต.กำกับ ก็ไม่จำเป็นต้องออกใบมาตั้งแต่ต้นก็ได้ สามารถใช้เทคโนโลยีได้ตั้งแต่การออกและเสนอขายเลย ตรงนี้เป็นการแก้ไขเพื่อรองรับเทคโนโลยี ซึ่งบล็อกเชนก็สามารถนำมาใช้ได้” น.ส.นภนวลพรรณ กล่าว

ทั้งนี้ยังมีการแก้ไขกฎหมายในส่วนของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ จากเดิมที่ได้กำหนดให้ตลาดหลักทรัพย์สามารถทำ Scriplees สำหรับหลักทรัพย์ทุกประเภท โดยได้มีการแก้ไขให้ผู้ประกอบการใหม่ๆ เช่น เทคคอมพานี, ฟินเทค ที่ต้องการทำศูนย์รับฝาก สามารถมีใบอนุญาตศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ เพื่อให้บริการรับฝากหลักทรัพย์ทุกประเภท (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ มาตรา 228/2) ซึ่งช่วงที่ผ่านมา มีเอกชนออกหุ้นกู้บนบล็อกเชนแล้ว 2 ราย ผ่าน Sandbox ของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ คาดว่าในอนาคตก็น่าจะมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ภายใต้พ.ร.บ.สินทรัพยดิจิทัลฯ การออกและการเสนอขายโทเคนจะต้องมีการขออนุญาต และเปิดเผยข้อมูลตามที่ก.ล.ต. กำหนด รวมถึงต้องออกและขายผ่าน ICO Portol ที่ทำหน้าที่คัดกรองคุณสมบัติผู้ออกและทำหน้าที่เสนอขายด้วย คล้ายกับที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) และผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์และรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นไอพีโอ (Underwriter) ส่วนการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นโทเคน คริปโทเคอร์เรนซี ก็จะอยู่ภายใต้กฎหมายดังกล่าวนี้ด้วย

สำหรับการกำกับดูแล STO และ ICO ในปัจจุบัน แม้กฎหมายและผลิตภัณฑ์อาจจะมีความซับซ้อนกัน แต่ก.ล.ต.จะกำกับเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ส่วนตัว Token กำหนดให้ Utility Token ไม่พร้อมใช้ คือ มีสินทรัพย์รองรับประเภทการให้สิทธิผู้ถือใช้ประโยชน์แพลตฟอร์มเพื่อแลกสินค้าและบริการ แต่ต้องนำเงินระดมทุนจากการออก Token ไปพัฒนานั้น จะถูกกำกับเช่นเดียวกับ Investment Token คือต้อขออนุญาตออกและเสนอขาย และเปิดเผยข้อมูลผ่าน ICO Portal ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.

ส่วนการนำอสังหาริมทรัพย์มาออกโทเคน (Asset back ICO) ก็จะอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ

ด้าน STO ฝั่งหลักทรัพย์ก็มีการนำดิจิทัลเข้ามาใช้ ซึ่งอาจจะมีเทคโนโลยีอื่นๆ นอกเหนือจากบล็อกเชนเพิ่มเติมอีก โดยหลักทรัพย์ดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็น หุ้น, หุ้นกู้, หน่วยลงทุน, ตราสารอื่นใด เช่น REITs ก็สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ออกหลักทรัพย์ได้เช่นเดียวกัน แต่ตามกฎหมายจะไม่ถือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล

สำหรับแนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล (ระยะสั้น) คือ การปรับเกณฑ์ Asset-backed ICO เช่น Real estate-backed TCO, ยกระดับการกำกับดูแล ICO Portal ให้เทียบเคียงกับ FA รวมถึงยกระดับการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ (DA Exchange) เช่น listing rules การเปิดเผยข้อมูล trading rules และ conduct อื่นๆ

ขณะเดียวกันในระยะปานกลาง จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อรองรับโทเคนดิจิทัลที่มีลักษณะของการระดมทุน หรือ Investment token, Utility token ไม่พร้อมใช้ ให้ไปอยู่ภายใต้พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ สอดคล้องกับมาตรฐานสากล อีกทั้งปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ให้รองรับ DA Exchange (Token) และปรับปรุงกฎเกณฑ์รองรับ ICO Portal และผู้ประกอบธุรกิจ DA (Token) คาดว่าจะเสนอไปยังกระทรวงการคลังได้ในไตรมาส 3/64

ทั้งนี้ นายสุรศักดิ์ ฤทธิ์ทองพิทักษ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับตลาด ก.ล.ต. กล่าวว่า ภาพรวมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาต 14 ราย ประกอบด้วย ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 8 ราย (อยู่ระหว่างเพิกถอนใบอนุญาต 1 ราย), นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 5 ราย และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล 1 ราย

ด้านมูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยแยกตามประเภทสินทรัพย์สะสม (ณ 1 ก.พ.64) ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเหรียญที่ติดอันดับสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ Bitcoin, Ethereum และ XRP และผู้ลงทุนส่วนใหญ่เป็น นักลงทุนบุคคล ขณะเดียวกันจำนวนบัญชีปรับตัวขึ้นไปถึง 4.7 แสนบัญชีในเดือน ม.ค.64 จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 1.6 แสนบัญชี และพบว่ามีผู้ลงทุนอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือคิดเป็น 3% เงินลงทุนเฉลี่ย 6,500 บาท และผู้ลงทุนส่วนใหญ่ราว 50% อายุไม่เกิน 30 ปี เงินลงทุนเฉลี่ย 20,000 บาท ที่เหลือจะเป็นกลุ่มอื่นๆ เงินลงทุนเฉลี่ย 53,000 บาท

พร้อมกันนี้ด้านความผันผวนของราคาสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อเทียบกับราคาหลักทรัพย์ ถือว่ามีความผันผวนค่อนข้างมาก โดย SET Index มีความผันผวนราว 10-20% แต่ราคาเหรียญมีความผันผวนถึง 100-200% (ในแต่ละช่วงเวลาและเหรียญ) ซึ่ง ล่าสุด เหรียญที่มีความผันผวนมากที่สุด คือ XRP

ส่วนแนวทางการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ก.ล.ต.ได้มีการกำกับดูแลฯ ใน 4 ด้าน ประกอบด้วย

1.Regulation เพื่อให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจโดยมี การกำกับดูแลกิจการที่ดี มีจรรยาบรรณ โปร่งใส น่าเชื่อถือ, คำนึงถึงประโยชน์ผู้ลงทุน ผู้ใช้บริการ และตลาดทุนโดยรวมเป็นสำคัญ

2.Licensing / Approval ให้ใบอนุญาต, ให้ความเห็นชอบผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการ และผู้บริหาร, ให้ความเห็นชอบเกณฑ์ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

3.Ongoing Supervision ติดตามตรวจสอบ Risk และการปฎิบัติตามกฎทั้ง On-site Inspection และ Off-site Monitoring และให้ความรู้และคำแนะนำหลักเกณฑ์ธุรกิจ

4.Enforcement บริษัท-ระบบงาน สั่งแก้ไข ปรับ กล่าวโทษ เพิกถอน เปิดเผยความผิด, กรรมการ ผู้บริหาร ปรับ พัก เพิกถอน เปิดเผยความผิด และตรวจสอบและดำเนินการเรื่องร้องเรียน / Unlicensed

สำหรับการพิจารณาการให้ใบอนุญาตฯ แก่ผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ประกอบการดังกล่าวจะต้องมีความพร้อมใน 3 ด้าน คือ 1. ด้านบุคคลากรของผู้ประกอบการฯ หรือมีบุคคลากรที่เพียวพอต่อปริมาณธุรกิจ และมีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับหน้าที่ ตลอดจนเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ ไม่มีประวัติเสื่อมเสีย 2.ด้านการเงินของผู้ประกอบการฯ เพียงพอรองรับการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง สามารถคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้า และชดเชยความเสียหายแก่ลูกค้าได้ 3.ด้านระบบของผู้ประกอบการ มีระบบงานที่สามารถรองรับการประกอบธุรกิจได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง น่าเชื่อถือ และมีประสิทธิภาพ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยง ป้องกัน COI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ก.ล.ต. จะพยายามดูให้ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป และพยายามเทียบเคียงเกณฑ์ให้สอดคล้องกับสากล เช่น เกณฑ์การรับลูกค้า, ระบบการป้องกันความเสี่ยง หรือบริหารความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอาเปรียบลูกค้า อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับระบบซื้อขายสินทรัพย์ ที่มีประสิทธิภาพ และระบบการเก็บรักษาทรัพย์สิน” นายสุรศักดิ์ กล่าว

ขณะที่แนวทางยกระดับการกำกับดูแลตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ก.ล.ต.อยู่ระหว่างพิจารณาใน 2 เรื่อง ได้แก่ การกำกับดูแลธุรกิจประเภท Custodial Wallet Provider โดยกำหนดให้ DA Custodial Wallet Provider เป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องขอใบอนุญาตและปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ของก.ล.ต. เพื่อให้การดำเนินดูแลการเก็บรักษา DA เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และห้ามการซื้อขาย Privacy Coins ในตลาดรอง เนื่องจากอาจใช้เป็นเครื่องมือกระทำความผิด โดยปัจจุบันก.ล.ต.ทำประชาพิจารณ์ว่าจะมีการแบน Privacy Coins ออกจากระบบ

นอกจากนี้ ภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล มีภาษีที่เกี่ยวข้องกันอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ภาษีเงินได้หรือผลตอบแทนที่ได้จากการถือสินทรัพย์ดิจิทัล (หัก ณ ที่จ่าย 15%) แล้วนำไปรวมคำนวณด้วย (ผู้ถือมีหน้าที่ต้องรายงาน) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสินค้า เมื่อมีการซื้อขายเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ต้องมีการจดเสียภาษี VAT ภาระเป็นของผู้ซื้อ แต่ผู้ขายเป็นผู้นำส่ง โดยผู้ที่ตัดสินใจลงทุนต้องรับทราบเรื่องภาษีดังกล่าวนี้ด้วย

 

Back to top button