OR / รวยกระจาย

บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) น่าจะคือกรณีศึกษาการขายหุ้น “ไอพีโอ” ที่เป็นธรรม


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) น่าจะคือกรณีศึกษาการขายหุ้น “ไอพีโอ” ที่เป็นธรรม

ก่อนหน้านี้ แม้ บจ.หลายแห่งจะขายหุ้นไอพีโอ

แต่ก็ทราบกันดีว่า หุ้นที่กระจายออกมา จะไปไม่ค่อยถึงนักลงทุนรายย่อย

นักลงทุนที่ได้รับการจัดสรรส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบัน กองทุนต่าง ๆ นักลงทุนรายใหญ่ของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่มียอดเทรดเฉลี่ยต่อเดือนมูลค่าสูงมาก ๆ

ไม่เพียงเท่านั้น

บาง บจ. อาจจะมีการนำหุ้นไอพีโอส่วนหนึ่งส่งคืนให้กับเจ้าของที่มี “นอมินี” เข้ามารับไป

การกระจายหุ้นไอพีโอที่ผ่านมาในรูปแบบนี้

ทำให้เกิดการ “รวยกระจุก”

หรือ มีเพียงนักลงทุนรายใหญ่ หรือนักลงทุนที่มีวอลุ่มเทรดสูง นักลงทุนสถาบันที่ได้กำไรอย่างงอกงามจากหุ้นไอพีโอ

ส่วนนักลงทุนรายย่อย ต้องรอเข้าไปซื้อในช่วงของการเทรดวันแรก

การเข้าเร็ว ออกเร็วก็รอดตัวไป

ทว่าหากเข้าผิดจังหวะ ถูกนักลงทุนกลุ่มที่ได้หุ้นไอพีโอไป “สาด” ใส่ออกมา แล้วตบราคาลง

เท่ากับว่าติดดอยทันที

ใครใช้เงินเย็น หรือเงินสดเข้ามาซื้อ ก็ต้องรอกันไป หรือไปซื้อถัวเฉลี่ยดึงต้นทุนลงมา

ใครเล่นแบบบัญชีมาร์จิ้นก็ไม่น่ารอด ขาดทุนกันไป

การขายหุ้นไอพีโอในรูปแบบที่ทำกันมานี้ ทำให้หุ้นส่วนใหญ่จะอยู่ในมือรายใหญ่ และสามารถควบคุมราคาหุ้นได้ง่าย

นักลงทุนบางกลุ่ม หรือบางคน อาจจะได้หุ้นในราคาต่ำกว่าไอพีโอด้วย

นี่ถือเป็นการสร้างความได้เปรียบรายย่อยเข้าไปอีก

มาถึงการกระจายหุ้นไอพีโอของหุ้น OR

อย่างที่รับรู้กันคือ ไม่มีการกระจายให้รายใหญ่ หรือนักลงทุนรายใหญ่ของ “บล.” ต่าง ๆ

ส่วนกองทุนที่จะเข้ามาซื้อหุ้น และได้รับโควตาไป

ก็มีการถูกตรวจสอบอีกครั้ง แล้วก็พบว่า มีกองทุนไพรเวทฟันด์ (ของนักลงทุนรายใหญ่) แฝงเข้ามา

ผลคือ ถูกตัดโควตา และบางกองทุนถูกดึงหุ้นกลับจนหมด

แล้วนำหุ้นส่วนนั้น เข้าไปสู่มือนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้น

การกระจายหุ้น ๆ ไอพีโอของหุ้น OR แบบการันตีว่า ทุกคนจะได้แน่นอน (ขั้นต่ำ 300 หุ้น) ทำให้นักลงทุนรายย่อยต่างพอใจกับวิธีการแบบนี้

นักลงทุนรายย่อยทั้งมือใหม่ มือสมัครเล่น มืออาชีพ ต่างแห่เข้ามาจองจำนวนมาก

กระทั่งทำลายสถิติการจองหุ้นไอพีโอที่มีจำนวนนักลงทุนกว่า 4.8 แสนราย และคิดเป็น 5.3 แสนรายการ (บางคนจองหุ้นมากกว่า 1 รายการ)

OR ธุรกิจหลัก ๆ คือค้าปลีกน้ำมัน

ส่วนธุรกิจนันออยล์ เช่น กาแฟ กำลังสร้างรายได้ และมีบทบาทมากขึ้น จนถูกมองว่า เป็นเป็น “เรือธง” ของ OR

อย่างน้อยก็ในช่วงอีก 2-3 ปีข้างหน้าแน่นอน

ก่อนที่จะเข้าเทรดวันแรก

บรรดาเซียนหุ้น นักวิเคราะห์ ต่างมองว่า ราคาหุ้น OR ไม่น่าจะไปไหนได้ไกล

เหตุผลเพราะการระดมทุนที่มีจำนวนมาก ทำให้ “หุ้นหนัก”

ประกอบกับ การไม่มีรายใหญ่ ได้รับการจัดสรรหุ้น ที่จะคอยกำหนดทิศทางราคาหุ้น หรือผู้ดูแลสภาพคล่อง

ปรากฏว่า มุมมองต่าง ๆ เหล่านี้ ต่างผิดหมด

ราคาหุ้น OR ออกสตาร์ตเหนือคาดการณ์

แถมมูลค่าการซื้อขายยังทำสถิติพุ่งเป็นประวัติการณ์ของหุ้นไอพีโอที่เทรดวันแรกกว่า 4.78 หมื่นล้านบาท

นักลงทุนรายย่อย ต่างเชื่อมั่นกับหุ้น OR อย่างมาก

ทำให้นักลงทุนทุกคนต่างที่จะเข้ามาซื้อเพิ่ม หลังจากได้รับการจัดสรรที่บางคนได้ขั้นต่ำ 300 หุ้น (บางคนอาจจองต่ำกว่า 300 หุ้น) และสูงสุดคือ 4,500 หุ้น

การไม่มีรายใหญ่ นักลงทุนสถาบันเข้ามากำกับราคาหุ้น

ทำให้ราคาหุ้น OR เคลื่อนไหวไปตามแรงซื้อและขายของนักลงทุนรายย่อย แม้ว่าในช่วงวันแรก จะมีกองทุนพยายาม “กดราคาหุ้น” เพื่อ “เก็บของ” แต่ก็สู้แรงซื้อกลับของรายย่อยไม่ได้

ทำให้ราคาหุ้นดีดกลับอย่างรวดเร็ว

เช่นเดียวกับวันที่สองของการซื้อขายหุ้น OR

ราคายังคงวิ่งขึ้นต่อเนื่อง ตามความมั่นใจในหุ้นตัวนี้

มีการเปรียบเทียบว่า หุ้น OR คล้ายกับหุ้น GameStop ในตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ถูกควบคุมโดยนักลงทุนรายย่อย

ด้วยการกระจายหุ้นแบบทั่วถึง และหุ้นที่ถูกควบคุมโดยรายย่อย ทิศทางราคาหุ้นจึงไม่เป็นไปตามที่บรรดาเซียนหุ้นต่าง ๆ วิเคราะห์กันไว้

OR จึงกลายเป็นกรณีศึกษาการกระจายหุ้นไอพีโอ

แบบ “รวยกระจาย”

Back to top button