AOT ลุ้นวัคซีน “โควิด” หนุนท่องเที่ยว คาดผู้โดยสารฟื้นสู่ปกติเร็วสุดปี 66

AOT ลุ้นวัคซีน "โควิด" หนุนภาคการท่องเที่ยว ประเมินจำนวนผู้โดยสารฟื้นสู่ปกติได้เร็วสุดปี 66


บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ระบุว่า ตามที่บริษัทได้รายงานข้อมูลการปรับประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศจากการประเมินผลกระทบสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระหว่างปีงบประมาณ 2564-2566 ฉบับเดือนพ.ย.2563 ให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทราบ ในการประชุมคณะกรรมการ ทอท. เมื่อวันนี้ (17 ก.พ.2564) ทอท. รายงานการปรับประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศระหว่างปีงบประมาณ 2564-2567 จากการประเมินผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ฉบับเดือนก.พ.2564 ดังนี้

1.ทอท. คาดว่าในปีงบประมาณ 2564 จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 335,459 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสารรวม 31.90 ล้านคน ปีงบประมาณ 2565 จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 547,226 เที่ยวบิน และผู้โดยสารรวม 73.71 ล้านคน ปีงบประมาณ 2566 จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 824,915 เที่ยวบิน และผู้โดยสารรวม 128.85 ล้านคน และปีงบประมาณ 2567 มีปริมาณเที่ยวบินรวม 923,925 เที่ยวบิน และผู้โดยสารรวม 146.40 ล้านคน

สำหรับการคาดการณ์ประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศข้างต้นอยู่บนสมมติฐานในกรณีที่สถานการณ์ดีที่สุด (Best Case) กล่าวคือ กรณีที่ประเทศไทยจะทำการเปิดประเทศหลังเดือนตุลาคม 2564 เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนได้ทั่วโลกตามเป้าหมายและก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นต่อการเดินทางมากขึ้น ส่งผลให้เที่ยวบินและผู้โดยสารสามารถฟื้นตัวได้เร็ว คาดว่าปริมาณการจราจรทางอากาศจะกลับมาอยู่ในระดับปกติเช่นเดียวกับปีงบประมาณ 2562 (ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) ในปีงบประมาณ 2566 แต่ในกรณีที่สถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ (Worst Case) กล่าวคือ กรณีที่ประเทศไทยจะทำการเปิดประเทศ หลังเดือนมกราคม 2565 เนื่องจากการฉีดวัคซีนมีความล่าช้า

โดยมีสาเหตุมาจากผลข้างเคียงของวัคซีน การกลายพันธุ์ของโรค ปัญหาการผลิต หรือการขนส่งและการแจกจ่าย เป็นต้น ส่งผลให้สายการบินปรับตัวได้ช้า ซึ่งจะทำให้ปริมาณการจราจรทางอากาศฟื้นตัวได้ช้ากว่าปกติ คาดว่าปริมาณการจราจรทางอากาศจะกลับมาอยู่ในระดับปกติเช่นเดียวกับ ปีงบประมาณ 2562 ในปีงบประมาณ 2567

2.การคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารปีงบประมาณ 2564 ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ตามข้อ 1 ลดลงจากฉบับเดือนพฤศจิกายน 2563 จำนวน 16.01 ล้านคน โดยแบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ จำนวน 0.84 ล้านคน ลดลง 1.42 ล้านคน เนื่องจากการปรับปรุงจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางเข้า-ออกประเทศ โดยอ้างอิงข้อมูลจากสภาพการเดินทางจริงในสถานการณ์ที่ผ่านมา และสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศในปัจจุบัน และผู้โดยสารภายในประเทศ จำนวน 31.07 ล้านคน ลดลง 14.58 ล้านคน ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ในประเทศไทยตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 เป็นต้นมา โดยผลการคาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร

Back to top button