ส่องกลยุทธ์ลุยหุ้นแบงก์ เน้นราคาต่ำบุ๊ก-ปันผลสูง เหมาะลงทุนระยะยาว!

ส่องกลยุทธ์ลุยหุ้นแบงก์ เน้นราคาต่ำบุ๊ก-ปันผลสูง เหมาะลงทุนระยะยาว!


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและรวบรวมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นหุ้นที่มีโอกาสฟื้นตัวภายหลังจากมีวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากเป็นกลุ่มที่จะฟื้นตัวตอบรับเศรษฐกิจสูง ขณะที่ราคาหุ้นที่ผ่านมามีการปรับตัวลดลงสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ขณะที่ได้นำข้อมูลตัวเลขทางการเงิน และการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.2564 มานำเสนอ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเข้าลงทุน โดยครั้งนี้นำเสนอข้อมูลอัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) และอัตราการจ่ายเงินปันผล

ทั้งนี้เนื่องจากหุ้นที่มี P/BV ต่ำนั้น หากในภาวะที่โควิดเริ่มคลี่คลายลง หรือสามารถใช้วัคซีนโควิดได้ในประเทศไทย จะส่งผลให้ผลประกอบการฟื้นตัว และราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้นสะท้อนมูลค่าของบริษัท ขณะที่ บจ.ที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลสูงถือเป็นหุ้นปลอดภัย ที่เหมาะกับการเข้าลงทุนในระยะยาว

โดยข้อมูลของหุ้นในกลุ่มธนาคารมีดังตารางประกอบ

 

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ (23 ก.พ.64) ว่า ธปท.เผยปี 63 สินเชื่อระบบแบงก์พาณิชย์โต 5.1% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน โดยในปี 62 สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวได้ 2.0%โดยสินเชื่อธุรกิจ (สัดส่วน 64.2% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวที่ 5.4% เทียบกับปีก่อนที่หดตัว -0.8% ปัจจัยหลักจากการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ส่วนหนึ่งกลับมาใช้สินเชื่อแทนการออกตราสารหนี้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ขณะที่สินเชื่อ SMEs1 หดตัวในอัตราที่ลดลงจากผลของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan)

สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภค (สัดส่วน 35.8% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวที่ 4.6% ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 7.5% สอดคล้องกับกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยทยอยปรับดีขึ้นในทุกพอร์ตสินเชื่อในช่วง ครึ่งปีหลังของปี 63 ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทั้งนี้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะแนวราบที่ปรับดีขึ้นและแคมเปญการตลาดของผู้ประกอบการ

โดยระบบธนาคาร มีกำไรสุทธิในปี 63 จำนวน 146.2 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการกันสำรองในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อคุณภาพหนี้ในระยะต่อไป ประกอบกับผลของฐานสูงจากรายได้จากเงินลงทุนซึ่งเป็นปัจจัยพิเศษในปีก่อน สำหรับ  ROA ลดลงมาอยู่ที่ 0.65% จากปีก่อนที่ 1.39% และ Net Interest Margin: NIM ลดลงมาอยู่ที่ 2.51% จากปีก่อนที่ 2.73%

ทั้งนี้ ธปท.เชื่อว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุนเงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ได้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ และการผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ช่วยสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อ และชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง ซึ่งเป็นผลจากการกันสำรองในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรองรับผลกระทบของโควิด-19 ต่อคุณภาพสินเชื่อ

โดยระบบธนาคารพาณิชย์ มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,994.3 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 20.1% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 799.1 พันล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 149.2% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 179.6%

จากรายงานตัวเลขดังกล่าวของ ธปท. ถือว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งเพียงพอรองรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้  ทั้งนี้เริ่มเห็นสัญญาณทางเศรษฐกิจที่เริ่มจะฟื้นตัว วัคซีนที่เริ่มมีการฉีดกันแล้วทั่วโลก รวมถึงจะเข้ามาไทยในไม่กี่วันนี้  คงมีเพียงความกังวลเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ อย่างไรก็ดี ทางธปท.ยังคงใช้มาตรการผ่อนปรน ช่วยเหลือทั้งฝั่งลูกหนี้และฝั่งธนาคาร เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้ด้วยกัน เชื่อระบบธนาคารผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว

ทั้งนี้ ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารที่ระดับปานกลาง (Neutral) มองเริ่มฟื้นแต่คุณภาพหนี้อาจยังกดดัน ก่อนหน้านี้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวขึ้นมากหลังจากมี fund flow เข้ามา หุ้นธนาคารหลายๆ ตัวเริ่มเต็มมูลค่า แต่ล่าสุดราคาเริ่มอ่อนตัวลงมา เลือกซื้อ 1) BBL (TP:151) น่าจะรับรู้กำไรจากเพอร์มาต้าแบงก์เข้ามาเต็มปีและมี coverage ratio ในระดับสูง, 2) TISCO (TP:100) ถือเป็นธนาคารที่มีความสามารถในการทำกำไรสูงสุด และมี Coverage ratio ในระดับสูงสุด + คาด Dividend Yield สูง 4.7%3) KKP (TP:62.-)  ได้ประโยชน์จากบล.ภัทร ที่มีส่วนแบ่งตลาด 1 รวมถึงวอลุ่มการซื้อขายที่เข้ามาค่อนข้างมากจาก fund flow ต่างประเทศ+ คาด Dividend Yield สูงสุดในกลุ่มราว 5.1%

*อนึ่งข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

 

 

Back to top button