CHOW ปิดซิลลิ่ง! จับตา Q1 บันทึก 4 พันล้าน ขายโซลาร์ญี่ปุ่น

CHOW ปิดซิลลิ่ง! จับตา Q1 บันทึก 4 พันล้าน ขายโซลาร์ญี่ปุ่น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ราคาหุ้นบริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน)  หรือ CHOW ปิดวันนี้(30มี.ค.64) อยู่ที่ระดับ 5.00 บาท บวก 1.14 บาท หรือ 29.53%  ด้วยมูลค่าซื้อขาย 46.90 ล้านบาท ราคาหุ้นปิดซิลลิ่งของวันที่ระดับ 5.00 บาท

โดยก่อหน้านี้นายอนาวิล จิรธรรมศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ CHOW เปิดเผยว่า ภายหลังที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติการจำหน่ายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม)  ในประเทศญี่ปุ่น 9 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 64.21 เมกะวัตต์ (MW) ให้กับกลุ่มของผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศญี่ปุ่น มูลค่ารายการทั้งหมดไม่น้อยกว่า 14,000 ล้านเยน หรือคิดเป็นมูลค่ารายการทั้งหมดไม่น้อยกว่า 4,114 ล้านบาท

โดยล่าสุดบริษัทได้เซ็นสัญญาซื้อขายแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารส่งมอบ เบื้องต้นบริษัทคาดว่ากระบวนการโอนกรรมสิทธิ์โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเสร็จภายในไตรมาส 1/2564 และจะบันทึกเป็นกำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์ดังกล่าวทันที

หากไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรง เช่น ความเข้มข้นของภาวะฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 9 โครงการ ในประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย

  1. โครงการ อิวากิ กำลังการผลิต 26.68 เมกะวัตต์ ซึ่งดำเนินการบริษัทย่อยคือ บริษัท เมกะ โซลาร์ พาร์ค 3 จำกัด มีที่ดิน 179 แปลง เนื้อที่รวม 757,694 ตารางเมตร (ตร.ม.),
  2. โครงการ ฮามาดะ 1 กำลังการผลิต 11 เมกะวัตต์ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทย่อย คือ บริษัท ฮามาดะ เมกะ โซลาร์ ที่ดิน 169 แปลง พื้นที่รวม 250,203 ตารางเมตร
  3. โครงการ ฮามาดะ 2 กำลังการผลิต 12 เมกะวัตต์ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทย่อย คือ บริษัท ซึซึ ฮามาดะ โซลาร์ จำกัด มีที่ดินจำนวน 310 แปลง เนื้อที่รวม 182,616 ตารางเมตร,
  4. โครงการอาโอโมริ กำลังการผลิต 7.21 เมกะวัตต์ ดำเนินการโดยบริษัทย่อย คือ บริษัท ซัน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด,
  5. โครงการนิฮออนมัตศึ กำลังการผลิต 1.48 เมกะวัตต์ ดำเนินการโดยบริษัทย่อย กู๊ด โซลาร์ จำกัด,
  6. โครงการโกเรียว กำลังการผลิต 1.50 เมกะวัตต์
  7. โครงการชิบูชิ กำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์,
  8. โครงการโนกาดะ กำลังการผลิต 1.11 เมกะวัตต์ ดำเนินการโดยบริษัทย่อย คือ บริษัท ซัน พาร์ทเนอร์ เจแปน จำกัด มีที่ดิน 6 แปลง พื้นที่รวม 17,497 ตารางเมตร และ 9.โครงการ ไซโดะ กำลังการผลิต 2.23 เมกะวัตต์ มีที่ดิน 18 แปลง เนื้อที่รวม 50,464 ตารางเมตร

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2564 ของบริษัทน่าจะมีโอกาสพลิกกลับมาเป็นกำไรสุทธิได้ ซึ่งจะมาจากการขายโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น 9 โครงการดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น ขณะที่สัดส่วนรายได้ในปี 2564 จะมาจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายเหล็กเป็นหลัก และส่วนเสริมมาจากรายได้จากธุรกิจพลังงาน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังบริษัทขายโรงไฟฟ้า9โครงการดังกล่าวแล้ว บริษัทจะยังคงมีธุรกิจโรงไฟฟ้าเหลืออยู่ ขนาดกำลังการผลิตรวม 70 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ดำเนินการภายในประเทศไทย ขนาดกำลังการผลิต 7 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือขนาดกำลังการผลิต 63 เมกะวัตต์ ดำเนินการในต่างประเทศ

“โครงการของธุรกิจพลังงานส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในแง่ของการจำกัดการเดินทาง  โดยปี 2564 เบื้องต้นเราจึงเน้นการลงทุนในประเทศมากขึ้น ส่วนต่างประเทศยังต้องรอให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น สำหรับแผนการลงทุนที่ชัดเจนในปี 2564 ยังต้องรอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) อนุมัติอีกที ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดวันประชุมที่ชัดเจน”  นายอนาวิล กล่าว

Back to top button