สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 31 มี.ค. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 31 มี.ค. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (31 มี.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคาร อย่างไรก็ดี ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนบวกเนื่องจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่นักลงทุนรอดูการเปิดเผยแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,981.55 จุด ลดลง 85.41 จุด หรือ -0.26% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,972.89 จุด เพิ่มขึ้น 14.34 จุด หรือ +0.36% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,246.87 จุด เพิ่มขึ้น 201.48 จุด หรือ +1.54%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (31 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และยังคงจับตาการปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร แต่ตลาดหุ้นยุโรปยังคงสามารถปิดตลาดได้อย่างแข็งแกร่งในเดือนมี.ค.และในไตรมาสแรกของปีนี้

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 429.60 จุด ลดลง 1.05 จุด หรือ -0.24%

ดัชนี CAC 40 ปิดที่ 6,067.23 จุด ลดลง 20.81 จุด หรือ -0.34%, ดัชนี DAX ปิดที่ 15,008.34 จุด ลดลง 0.27 จุด หรือ -0.00% และดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 6,713.63 จุด ลดลง 58.49 จุด หรือ -0.86%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (29 มี.ค.) โดยถูกกดดันจากเงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้น และการร่วงลง 30% ของหุ้น Deliveroo ซึ่งเป็นบริษัทส่งอาหารในการเข้าซื้อขายวันแรก ถ่วงตลาดลงด้วย

ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 6,713.63 จุด ลดลง 58.49 จุด หรือ -0.86%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงเมื่อคืนนี้ (31 มี.ค) หลังจากคณะกรรมการกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ได้ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในปีนี้ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในยุโรป

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 1.39 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 59.16 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 60 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 63.54 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (31 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนแห่ซื้อทองคำเพื่อชดเชยการทำชอร์ตเซล (Short Covering) ในวันสิ้นสุดไตรมาส 1/2564 นอกจากนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำด้วย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 29.6 ดอลลาร์ หรือ 1.76% ปิดที่ 1,715.6 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 39.5 เซนต์ หรือ 1.64% ปิดที่ 24.532 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 30.9 ดอลลาร์ หรือ 2.66% ปิดที่ 1,191.5 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 50.90 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 2,619.90 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (31 มี.ค.) ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค.ของสหรัฐ รวมทั้งการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.09% สู่ระดับ 93.2202 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2569 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2633 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 110.73 เยน จากระดับ 110.34 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9455 ฟรังก์ จากระดับ 0.9421 ฟรังก์

ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1726 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1716 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3779 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3723 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7601 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7589 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button