เปิดสถิติ SET เม.ย.ย้อนหลัง 10 ปี “ขึ้นมากกว่าลง” ชูเคาะ 12 หุ้นพื้นฐานแกร่ง ราคาถูก!

เปิดสถิติ SET เม.ย.ย้อนหลัง 10 ปี "ขึ้นมากกว่าลง" ชูเคาะ 12 หุ้นพื้นฐานแกร่ง ราคาถูก!


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการรวบรวมกลุ่มหุ้นที่น่าลงทุนสำหรับเดือนเมษายน 2564 โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลจากโบรกเกอร์ชั้นนำของไทย อาทิ บล.เอเซีย พลัส,บล.ฟินันเซีย ไซรัส และ บล.กรุงศรี ซึ่งส่วนใหญ่ประเมิน SET เดือนนี้นี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบสถิติย้อนหลัง 10 ปี มีความน่าจะเป็นที่จะให้ผลตอบแทนเป็นบวกสูงถึง 80%

ดังนั้นเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศการลงทุนนักวิเคราะห์จึงจัดกลยุทธ์การลงทุนเดือน เม.ย.โดยเน้นไปที่กลุ่มหุ้นพื้นฐานแกร่งราคาถูก อาทิ BBL, CENTEL, BDMS, STEC, SCC, SPALI, BLA, CPALL, DOHOME, EPG, IIG และ SRICHA ซึ่งระบุไว้ดังนี้

บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มุมมองการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2564 เห็นภาพชัดขึ้นจาก 4 องค์ประกอบ คือ

  1. การทยอยฉีดวัคซีนในไทยเพิ่มขึ้น เป็นขั้นบันไดในแต่ละเดือน รวมถึงการควบคุมการแพร่ระบาดทำได้ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก
  2. ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มดูดีขึ้น อาทิ ตัวเลขส่งออกเดือน ก.พ. หากหักทองคำออกจะเติบโตถึง 4.6% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นต้น ขณะที่มาตรการภาครัฐ การกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวต่อเนื่องยาวไปถึง เดือน ส.ค.  2564 ในระยะถัดไปทางภาครัฐน่าหันมาให้ความสำคัญกับการผลักดันการลงทุนของรัฐและเอกชน ที่มีมูลค่าโครงการปี 2564 กว่า  4.7 แสนล้านบาท
  3. แรงหนุนจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน เตรียมออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน,พลังงานสะอาด และสวัสดิการสังคม วงเงินราว 3-4 ล้านล้านเหรียญ ตามที่เคยหาเสียงไว้
  4. ธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ย ในระดับต่ำต่อเนื่อง

นอกจากนี้สภาพคล่องส่วนเกิน (เงินฝากในระบบปัจจุบันมีกว่า 15.72 ล้านล้านบาท) เริ่มเห็นการเคลื่อนย้ายเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ช่วยหล่อเลี้ยงดัชนีให้ปรับตัวขึ้นต่อได้ ทั้งจากการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ล่าสุดเดือน ก.พ. 2564 มียอดการเปิดบัญชีใหม่ถึง 2.7 แสนบัญชี (สูงเกินกว่า 800% ของปริมาณการเปิดบัญชีใหม่ต่อเดือนในอดีต) ขณะเดียวกันการลงทุนผ่านกองทุนรวมมีการให้น้ำหนักกับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเช่นกัน

อีกทั้งปัจจุบันยังเห็น Momentum การย้ายเม็ดเงินจากสินทรัพย์ปลอดภัยมาสู่สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอยู่ เพราะว่า Bond Yield ระยะยาวปรับตัวขึ้นเร็ว แต่ Bond Yield ระยะสั้นยังอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายมานานกว่า 8 เดือน ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มมีการค้นหาสินทรัพย์ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนจูงใจกว่า อย่างเช่นตลาดหุ้น และยังตรงตามสถิติในอดีตช่วงหลังปี 2552 คือ เวลา Bond Yield ระยะยาวขยับขึ้น พร้อมๆ กับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นยังอยู่ในระดับต่ำ มักจะตามมาด้วยตลาดหุ้นที่เป็นแนวโน้มขาขึ้น

ทั้งสภาพคล่องส่วนเกิน บวกกับปัจจัยบวกที่หลากหลายเกือบทุกกลุ่มฯ พร้อมกับแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2564 คาดฟื้นตัวเด่นกว่า 32% อีกทั้งปลายเดือน เม.ย. 2564 มักจะมีแรงเข้ามาเก็งกำไรในหุ้นปันผลเสมอ

โดยทั้งหมดทั้งมวลทำให้ทาง ASPS มีมุมมองตลาดหุ้นไทยเดือนเม.ย. มีโอกาส Outperform ได้ตามสถิติในอดีตย้อนหลัง 10 ปี ที่ปรับตัวขึ้น เฉลี่ยสูงสุดเมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆที่ 3.1% โดย ASPS วางเป้าหมายดัชนีปี 2564 ที่ 1670 จุด

กลยุทธ์การลงทุนเดือน เม.ย. แนะลงทุนในหุ้นสวยทั้งภายใน (Valuation ดี) และภายนอก (มีปัจจัยสนับสนุน) พร้อมกับได้ประโยชน์หากตลาดฯ เปลี่ยนวิธีการคำนวณดัชนีแบบ Free float adjusted market Cap. คือ BBL, CENTEL, BDMS, STEC, SCC, SPALI และ BLA

 

บล.ฟินันเซีย ไซรัส  ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กลยุทธ์การลงทุนเดือนเม.ย. จากสถิติเดือน เม.ย. 10 ปีย้อนลงพบว่ามักให้ผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ย 1.6% (ไม่นับปี 2563) รวมถึงตลาดยังคาดหวังเชิงบวกต่อเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและการทยอยเปิดประเทศ

อย่างไรก็ตามคาดว่าประเด็นเงินเฟ้อและ Bond Yield ที่เร่งขึ้นยังคงกดดันตลาดและทำให้ความน่าสนใจของหุ้นลดลง ประกอบ SET Index ที่ปรับตัวขึ้นราว 10% YTD และมี Valuation ที่ค่อนข้างแพง ซื้อขายที่ระดับ 2564-2565 PER ที่ 20.4 เท่าและ 17.1 เท่าตามลำดับ สะท้อน Upside ของดัชนีที่จำกัดและใกล้ระดับ SET Target ที่ 1,600 จุด

จึงมองการปรับขึ้นของดัชนีเป็นจังหวะ “ทยอยทำกำไร” ก่อนเข้าสะสมในเดือน พ.ค. ซึ่งมีโอกาสเกิด Sell in May  โดยยังชอบหุ้น Value และ Cyclical Play ส่วนหุ้นแนะนำเดือน เม.ย. เน้น Selective Buy ได้แก่ CPALL, DOHOME, EPG, IIG, SRICHA

 

บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า  คาด SET แกว่งตัว 1,580 – 1,600 จุด แม้ภาวะตลาดจะได้แรงหนุนจากสหรัฐประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 10 ปีมูลค่า 2.26 ล้านล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตามแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่อ่อนตัวลงหลังโอเปกพลัสคาดการณ์ Demand การใช้น้ำมันจะลดลงในปีนี้ รวมถึง US bond yield ที่พุ่งขึ้นเหนือ 1.7% และ Fund flow ที่ผันผวนจะฉุดให้ดัชนีอ่อนตัวลง

โดยย้อนสถิติลงทุนเดือน เม.ย.มีโอกาสให้ผลตอบแทนเป็นบวกมากกว่าลบ:ข้อมูลสถิติย้อนหลัง 10 ปี (2554-2563) พบว่าการลงทุนในเดือน เม.ย.ให้ ผลตอบแทนเป็นบวกทั้งหมด 8 ปี และมีเพียง 2 ปี เท่านั้นที่ให้ผลตอบแทนติดลบ หรือสรุปได้ว่าการลงทุนในเดือน เม.ย.มีความน่าจะเป็นที่จะให้ผลตอบแทน เป็นบวกสูงถึง 80% คาดเกิดจากการเข้าดักเก็งกำไรก่อนที่บริษัทจดทะเบียนจะประกาศงบไตรมาส 1 ของแต่ละปี

 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button