หุ้นเหล็กพลิกลบ! เซ่นข่าว “นายกฯ” สั่งแก้ปัญหาราคาพุ่ง ลดต้นทุนโรงงาน

ราคา 6 หุ้นกลุ่มเหล็กพลิกลบ! หลังข่าว “นายกฯ” สั่งแก้ปัญหาราคาพุ่ง ลดต้นทุนโรงงาน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TSTH วันที่ 27 เม.ย.2564 ณ เวลา 15.24 น. อยู่ที่ระดับ 1.69 บาท ปรับตัวลดลง 0.20 บาท หรือ 10.58% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.42 พันล้านบาท

ราคาหุ้น บริษัท จี เจ สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ GJS  อยู่ที่ระดับ 0.40 บาท ปรับตัวลดลง 0.09 บาท หรือ 18.37% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.43 พันล้านบาท

ราคาหุ้น บริษัท โพสโค-ไทยน๊อคซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ INOX อยู่ที่ระดับ 1.22 บาท ปรับตัวลดลง 0.13 บาท หรือ 9.63% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.36 พันล้านบาท

ราคาหุ้น บริษัท สามชัย สตีล อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ SAM อยู่ที่ระดับ 1.48 บาท ปรับตัวลดลง 0.10 บาท หรือ 6.33% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 377.82 ล้านบาท

ราคาหุ้น บริษัท บางสะพานบาร์มิล จำกัด (มหาชน) หรือ BSBM อยู่ที่ระดับ 1.95 บาท ปรับตัวลดลง 0.05 บาท หรือ 2.50% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 253.05 ล้านบาท

ราคาหุ้นบริษัท ทีเอ็มที สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ TMT อยู่ที่ระดับ 11.90 บาท ปรับตัวลดลง 0.50 บาท หรือ 4.03% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 314.90 ล้านบาท

โดยราคาหุ้นในกลุ่มเหล็กปรับตัวลดลงหลังเปิดการซื้อขายภาคบ่ายวันนี้ หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหล็ก เข้าไปดูแลและแก้ปัญหาราคาเหล็กที่ปรับตัวขึ้นสูงจนส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งคาดว่าประเด็นดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิดความกังวลว่าราคาเหล็กในประเทศจะปรับตัวลดล

ทั้งนี้ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์เข้าไปดูแลปัญหาราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงเวลานี้ เพื่อลดผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีเหล็กเป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งหากไม่เร่งดูแลจะกระทบต่อไปยังปัญหาการจ้างงานในระยะต่อไปได้

โดยนายกรัฐมนตรีได้รับรายงานว่า ขณะนี้ราคาเหล็กในประเทศหลายประเภทได้ปรับตัวขึ้นไปในทิศทางเดียวกับราคาเหล็กในตลาดโลก ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการเตรียมปรับนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศผู้ผลิตขนาดใหญ่ เช่น ประเทศจีน ซึ่งในช่วงเวลาที่ตลาดไม่มีความแน่นอน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยดูแลภายใต้กฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศที่มี เพื่อดูแลให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้

“สถานการณ์ราคาเหล็กทั้งในประเทศและต่างประเทศในเวลานี้กระทบต่อผู้ประกอบการหลายอุตสาหกรรม จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การนำเข้า ส่งออกเหล็ก เข้าไปดูแลปัญหาในระยะที่ตลาดมีความผันผวน และให้สื่อสารกับผู้ประกอบการว่าขณะนี้เกิดปัจจัยเสี่ยงใดขึ้นบ้าง ต้องมีการป้องกันความเสี่ยงในระยะสั้น ระยะยาวอย่างไร เพื่อลดผลกระทบต่อผลประกอบการและการจ้างงาน” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

 

 

Back to top button