JAS.. ทำอย่างไรต่อลูบคมตลาดทุน

เห็นท่าทีของธนาคารกรุงเทพ(BBL) ล่าสุดแล้ว รู้สึกเป็นห่วง JAS


ธนะชัย ณ นคร 

 

เห็นท่าทีของธนาคารกรุงเทพ(BBL) ล่าสุดแล้ว รู้สึกเป็นห่วง JAS

ผู้บริหารของ BBL ยืนยันว่า ตนเองมีความสามารถในการปล่อยสินเชื่อก้อนใหญ่ 7.56 หมื่นล้านบาท ให้กับ JAS

ทว่า JAS ต้องไปปรับแผนธุรกิจมาใหม่ให้ชัดเจน

และผ่านมาจนถึงขณะนี้ แจสก็ยังไม่ได้ส่งแผนเข้าไปที่แบงก์กรุงเทพ

ผู้บริหารของแบงก์กรุงเทพ ยังแสดงความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า JAS ควรมีพันธมิตรด้านแหล่งเงินทุน และอาจจะต้องใช้วิธีการเพิ่มทุนด้วย

จริงๆ แล้วไม่ใช่เพียงแบงก์กรุงเทพเท่านั้นที่มีความเห็นแบบนี้

ก่อนหน้านี้ ส่วนตัวผมก็ได้คุยกับนายแบงก์หลายคนในวงการธนาคารพาณิชย์

ทุกคนต่างก็แสดงความเห็นในทำนองนี้เช่นกัน

ประเด็นสำคัญที่นายแบงก์ต่างกังวลคือ “แจส” ไม่มีความเชี่ยวชาญในสงครามโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือมือถือ

แจสต้องตอบคำถามได้ว่า “จุดแข็ง” ของเขาคืออะไร

“โอกาส” ของเขาอยู่ตรงไหน และอะไรคือ “อุปสรรค” และ “จุดอ่อน”

หรือสรุปง่ายๆ ว่า แจส เองก็ต้องทำเรื่อง SWOTAnalysis ออกมาให้เห็น เพราะธุรกิจมือถือทุกวันนี้ ตลาดพัฒนาไปไกลมาก คนที่เข้ามาใหม่ หากมีประสบการณ์ไม่เพียงพออาจเพลี่ยงพล้ำได้

“บุคลากร” นี่ก็สำคัญ

แจส อาจจะมีบุคลากรที่เก่ง และมีความสามารถในวงการสื่อสาร

แต่สำหรับมือถือแล้ว เพียงพอหรือไม่

เพราะหากผ่านมาจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่เห็นแจส จะมีการดึงบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ที่ดี เข้ามาช่วยทำตลาดมือถือ

มีการยกตัวอย่างครับ

สมมุติว่าแจสใช้สงครามราคา และมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก

แต่ก็อย่าลืมว่า ต้นทุนของแจสสูงมาก และอาจทำให้การถึง “จุดคุ้มทุน” ยาวนานออกไป หรืออาจจะมีความเสี่ยงมากกว่านั้น

ก่อนหน้านี้ เคยเขียนไปแล้วว่า แจสอาจต้องใช้ “วิศวกรรมการเงิน” เข้ามาช่วย เดินตามรอย หรืออาจจะคล้ายกับวิธีการของทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE)

เหตุผลเพราะ เพื่อที่จะเลี่ยงต้องใช้เงินกู้จำนวนมหาศาล

นายแบงก์เอง ก็ไม่อยากปล่อยกู้เงินก้อนใหญ่มากๆ กับธุรกิจที่มีความเสี่ยง และแข่งขันสูง

“การที่ JAS ขยายสู่ธุรกิจโมบายล์อาจจะเป็นความเสี่ยง เนื่องจากบริษัทไม่มีความถนัด และทาง JAS ควรเร่งหาพันธมิตรเข้ามาเสริมเรื่องแหล่งเงินทุน หรือใช้แนวทางการเพิ่มทุนประกอบ”ผู้บริหาร BBL กล่าวชัดเจนครับ

ประโยคนี้พิจารณาได้หลายตลบ

แต่ประเด็นหลักๆ น่าจะเข้าใจได้ว่าให้ไป “เพิ่มทุน” นั่นแหละ(หรือเปล่า)

แจสเองนั้นมี JAS-W3 ยังเหลือรอการแปลงสิทธิอยู่ แต่มิทราบแน่ชัดว่าจำนวนเท่าใด

กำไรในปี 2558 กว่า 1.57 หมื่นล้านบาท หากตัดที่ต้องจ่ายเงินปันผลออกมากว่า 2,000 ล้านบาท ก็ยังเหลืออีกกว่า 1.37 หมื่นล้านบาท

ดีดลูกคิดแล้ว ไม่รู้ว่าเมื่อมารวมกันแล้วได้เท่าไหร่ แต่ไม่น่าพอ

อย่างที่เคยเขียนบอกไว้ก่อนหน้านี้แล้วครับว่า แผนธุรกิจ เหมือนจะเป็นจุดที่สำคัญสุด

และแผนธุรกิจ อาจจะต้องระบุถึงรายได้ที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการทำเอ็มโอยูกับลูกค้าไว้บ้างแล้ว และนายแบงก์เห็นว่าจะมีเงินเข้ามาชัดเจน ก็สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันได้

ปัจจัยนี้อาจสำคัญกว่าสินทรัพย์ของ JAS ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และทุนจดทะเบียนมีเท่าไหร่

วันที่ 21 มี.ค.นี้ ก็จะต้องเป็นวันที่ทั้งทรูฯ และ JAS จะต้องไปจ่ายเงินกับ กสทช.

หรือเหลือเวลาอีกกว่า 30 วันเท่านั้น

หลายคนอาจมองว่า เวลาที่เหลืออยู่อาจไม่เพียงพอ กระทั่งนำไปสู่การประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ในส่วนของ JAS ใหม่

แต่ส่วนตัวก็เชื่อว่า JAS จะไม่ทำให้เกิดปัญหาเช่นนั้น

เพราะหากเกิดขึ้นจริง

JAS ก็จะเผชิญกับปัญหาตามมาอีกมาก

Back to top button