ย้อนรอยข่าวร้อนข่าวดัง Q1/59BANPU เพิ่มทุนช็อกวงการ

ย้อนรอยข่าวเด่น BANPU การเพิ่มทุน และการนำบริษัทย่อยเข้าจะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจ และคัดเลือกประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นภายในไตรมาส 1/59 เพื่อนำมานำเสนอให้นักลงทุนได้อ่านอีกครั้ง โดยในวันนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นข่าวของการเพิ่มทุน และการนำบริษัทย่อยเข้าจะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU

 

โดยเหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อวันที่ 11 มี.ค.59 ที่ผ่านมา นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ BANPU ได้แจ้งมติที่ประชุมว่าบริษัทจะมีการลดทุนจดทะเบียนของบริษัทจำนวน 823,026,240 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 3,404,904,790 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 2,581,878,550 บาท โดยการตัดหุ้นสามัญที่ยังไม่จำหน่ายจำนวน 823,026,240 หุ้น ซึ่งมีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท

จากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 2,581,878,550 หุ้น เป็นทุนจดทะเบียนใหม่ จำนวน 5,163,757,100 บาท โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 2,581,878,550 หุ้นที่มีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,290,939,275 หุ้นมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท (Right Offering) ในอัตราส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นเพิ่มทุน ในราคาหุ้นละ 5 บาท

และจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,290,939,275 หุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ครั้งที่ 3 (BANPU-W3) จำนวนไม่เกิน 1,290,939,275 หน่วยที่บริษัทจะออกให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในอัตราส่วน 1 หุ้นเพิ่มทุนต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ โดยไม่คิดมูลค่า และมีราคาใช้สิทธิซื้อหุ้นตาม BANPU-W3 ดังกล่าวเท่ากับ 5 บาทต่อหุ้น และใช้สิทธิได้ทุกๆ 3 เดือนนับแต่วันที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ

 

ซึ่งการเพิ่มทุนครั้งนี้ ทางผู้บริหารแจ้งว่าการเพิ่มทุนของบริษัทในครั้งนี้เพื่อปรับโครงสร้างทางการเงินในกลุ่มบริษัทด้วยการชำระหนี้ของบริษัทและบริษัทย่อย ซึ่งบริษัทจะสามารถระดมเงินทุนได้เพียงพอในการปรับโครงสร้างทางการเงินและการชำระหนี้ที่จะช่วยลดภาระหนี้สินที่ค้างชำระเป็นจำนวนประมาณ 12,900 ล้านบาท และดอกเบี้ยค้างจ่ายประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี และจะทำให้อัตราหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของกลุ่มบริษัทลดลงจาก 1.62 เป็น 1.23

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหลังจากที่หุ้นเพิ่มทุน และแปลงสภาพวอร์แรนต์เรียบร้อยแล้ว แน่นอนว่าราคาหุ้นจะ (dilution effect) อย่างน้อย 35% หรืออาจจะมากกว่านั้น รวมถึงส่วนแบ่งกำไรของผู้ถือหุ้นก็จะลดน้อยลงไปตามจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน หรือส่วนแบ่งจะหายไป 50% เลยก็ว่าได้ ซึ่งมองว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้ก็เป็นวิศวะกรรมทางการเงินอย่างหนึ่ง ที่สามารถหาเงินได้อย่างถูกหลักวิธี โดยหมดเรื่องความกังวลว่าผู้ถือหุ้นที่ได้หุ้นเพิ่มทุนไปจะไม่แปลงสิทธิเพราะว่าถ้าคิดแบบนั้น ผู้ถือหุ้นที่ได้ทำการเพิ่มทุนคงจะกระเป๋าฉีกเป็นแน่นอน

ร่วมถึงบริษัทเตรียมจะมีการเสนอขายหุ้น IPO ของบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ล่าสุด แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ของ BPP ได้ผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  บริษัทจะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการที่จะนำหุ้น BPP ในการเสนอขายต่อนักลงทุนต่อไป ทั้งนี้บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตรวมมากกว่า 4 กิกะวัตต์ ภายในต้นทศวรรษ 2020

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเจอปัญหาราคาถ่านหินยังทรงตัวในระดับต่ำและฟื้นตัวได้อย่างจำกัดจากอุปสงค์ที่ยังอ่อนแอ โดยเฉพาะในจีนส่งผลให้แนวโน้มผลประกอบการธุรกิจถ่านหินของ BANPU น่าจะยังทรงตัวระดับต่ำ ขณะที่จะเห็นได้ว่าบริษัทเริ่มมีการเพิ่มสัดส่วนของธุรกิจโรงไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนของกำไรจากโรงไฟฟ้าหงสาตั้งแต่ไตรมาส 2/59 เป็นต้นไป และคาดว่าในปีนี้บริษัทน่าจะพลิกกลับมีกำไรสุทธิได้อีกครั้ง

โดยช่วงต้นเดือน มี.ค. 59 ที่ผ่านมาบริษัทได้รายงานว่าโรงไฟฟ้าหงสาได้จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ครบทั้ง 3 เฟสแล้ว ซึ่งแม้ว่า BANPU จะเริ่ม COD โครงการโรงไฟฟ้าหงสาเฟส 1 และเฟส 2 ตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังปี 58 แล้ว แต่บริษัทยังไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าวเลย เหตุผลหลักมาจาก 1) ช่วงปรับจูนโรงไฟฟ้าในช่วงเริ่มต้นและ 2) ต้นทุนคงที่ที่ยังไม่เกิด economy of scales เพียงพอ ซึ่งทาง BANPU คาดว่าจะเริ่มเห็นประโยชน์อย่างชัดเจนหลัง COD ครบทั้ง 3 เฟสตั้งแต่ไตรมาส 2/59 เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นก้าวแรกของกลยุทธ์การเติบโตใหม่ที่หันมาเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้ามากขึ้น

ขณะที่บริษัทยังมีแผนในการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน Shanxi Lu Guang ขนาด 1,320 MW ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า จึงคาดผลประกอบการของ BANPU ในปีนี้จะพลิกเป็นกำไรสุทธิที่ 1,609 ล้านบาท เหตุผลหลักมาจากการหายไปของรายการขาดทุนพิเศษในปีก่อน และการรับรู้กำไรของโรงไฟฟ้าหงสาตั้งแต่ไตรมาส 2/59

 

การเพิ่มทุนในครั้งนี้เชื่อว่าจะเป็นตัวช่วยให้ BANPU สามารถเพิ่มศักยภาพทางการเงินได้เป็นอย่างดี รวมถึงการดันบริษัทลูกเข้าตลาดเพื่อลุยธุรกิจโรงไฟฟ้าอีกทาง และยังได้แรงหนุนจากโรงไฟฟ้าหงสาที่คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ในไตรมาส 2/59 แถมบริษัทยังมีแนวคิดที่จะลุยธุรกิจโรงไฟฟ้ามากขึ้น จึงเชื่อได้ว่า BANPU จะสามารถกลับมาเป็นหุ้นที่มีความโดดเด่นอีกครั้งอย่างแน่นอน

Back to top button